Description
บทความแนะนำแนวคิดกลุ่มอัล-ก็อดยานียะฮฺโดยสรุป อาทิ นิยามกลุ่ม ผู้ก่อตั้งแนวคิด คุณลักษณะเฉพาะ ปราชญ์ในแนวคิดนี้ และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในอดีตและปัจจุบันเกี่ยวกับกลุ่มลัทธินี้.
กลุ่มลัทธิ อัล-ก็อดยานียะฮฺ
] ไทย – Thai – تايلاندي [
สภายุวมุสลิมโลก WAMY
แปลโดย : อันวา สะอุ
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
2012 - 1433
﴿ القاديانية ﴾
« باللغة التايلاندية »
الندوة العالمية للشباب الإسلامي
ترجمة: أنور إسماعيل
مراجعة: صافي عثمان
2012 - 1433
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
แนวคิดและการการเชื่อมั่นของ อัล-ก็อดยานียะฮฺ
นิยาม
อัล-ก็อดยานียะฮฺ คือ กลุ่มเคลื่อนไหวที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ.1900 โดยการวางแผนของจักรวรรดินิยมอังกฤษในชมพูทวีป ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อให้ชาวมุสลิมห่างเหินจากศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะหลักคำสอนเกี่ยวกับอัล-ญิฮาด(การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ) เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ชาวมุสลิมต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดินิยมอังกฤษในนามของศาสนาอิสลาม กลุ่มเคลื่อนไหวนี้มีกระบอกเสียงหลักคือวารสารอัล-อัดยาน ซึ่งตีพิมพ์ด้วยภาษาอังกฤษ
การก่อตั้งและบุคคลสำคัญ
มิรซา ฆุลาม อะหฺมัด อัล-ก็อดยานีย์ มีชีวิตระหว่างปี ค.ศ. 1839 - 1908 เป็นบุคคลหลักที่ได้จัดตั้งกลุ่มอัล-ก็อดยานียะฮฺ เขาเกิดที่ตำบลก็อดยาน แคว้นปัญจาบ ประเทศอินเดีย เมื่อปี ค.ศ. 1839 เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวที่รู้จักกันว่าเป็นตระกูลที่ทรยศต่อศาสนาและปรเทศชาติ เขาเติบโตมาในสภาพของการสวามิภักดิ์ต่อจักรววรดินิยมในทุกสภาวการณ์ ดังนั้นเขาจึงถูกคัดเลือกเพื่อให้สวมบทบาทเป็นนบี ทั้งนี้เพื่อให้ชาวมุสลิมมาห้อมล้อมตัวเขาและหันเหจากการต่อสู้กับการยึดครองของผู้กดขี่ รัฐบาลของอังกฤษให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้อย่างมาก จนกระทั้งกลุ่มนี้ได้แสดงความจงรักภักดีต่ออังกฤษอย่างเปิดเผย
ฆุลาม อะหฺมัด เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่พวกพ้องเขาว่าเป็นผู้ที่มีปัญหาทางจิต มีโรคมากมายและติดยาเสพติด
หนึ่งในบรรดานักวิชาการมุสลิมที่ลุกขึ้นมาต่อกรกับกลุ่มเคลื่อนไหวสกปรกนี้ คือ ชัยคฺ อบู อัล-วะฟาอ์ ษะนาอุลลอฮฺ อัล-อัมรฺตัสตุรีย์ ประธานสมาคมอะฮฺลุลหะดีษ ในประเทศอินเดีย โดยท่านได้ปะทะคารมกับฆุลาม อะหฺมัด และในที่สุดท่านชัยคฺ อบูอัล-วะฟาอ์ สามารถหักล้างหลักฐานของกลุ่มนี้ได้ โดยท่านได้เปิดโปงวัตถุประสงค์อันชั่วร้ายของกลุ่มนี้ ท่านได้อธิบายถึงความหลงผิดและเหตุผลการพ้นสภาพจากศาสนาอิสลามของกลุ่มนี้
เมื่อฆุลาม อะหฺมัด ยืนกรานที่จะยึดมั่นในแนวคิดที่หลงทางนี้และไม่ยอมกลับตัว ชัยคฺ อบูอัล-วะฟาอ์ได้ทำการมุบาฮะละฮฺ (การสาบานตนต่อัลลอฮฺว่าผู้ใดที่พูดเท็จจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายก็ขอให้เสียชีวิต) หลังจากทั้งสองทำการมุบาฮะละฮฺอยู่ไม่กี่วัน ปรากฏว่า มิรซา ฆุลาม อะหฺมัด ได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1908 โดยได้ทิ้งงานเขียนไว้จำนวน 50 เล่ม นอกจากนี้ยังมีบทความและสิ่งพิมพ์อื่นๆ อีกด้วย ส่วนหนึ่งจากงานเขียนของ ฆุลาม อะหฺมัด คือ อิซาละฮฺ อัล-เอาฮาม, อิอฺญาซฺ อะหฺมะดีย์, บะรอฮีน อะหฺมะดียะฮฺ, อันวารุลอิสลาม, อิอฺญาซ อัล-มะสีหฺ, อัต-ตับลีฆฺ และ ตะญัลลิยาต อิลาฮิยะฮฺ
บุคคลสำคัญของแนวคิดนี้
1. นุรุดดีน เป็น เคาะลีฟะฮฺ(ผู้สืบทอด)แนวคิดอัลก็อดยานียะฮฺคนแรก (หลังจากการเสียชีวิตของฆุลาม อะหฺมัด) โดยทางการอังกฤษได้สวมมงกุฎผู้นำแนวคิดนี้บนศีรษะของเขา จากนั้นก็มีผู้ที่หลงเชื่อก็ทำตามเขา ส่วนหนึ่งจากงานเขียนของเขาคือ หนังสือฟัศลฺ อัล-คิฏอบ
2. มุหัมมัด อะลีย์ และ เคาญะฮฺ กะมาลุดดีน เป็นผู้นำอัล-ก็อดยานียะฮฺ ในเมืองละฮอร์ ทั้งสองเป็นปราชญ์ของแนวคิด
มุหัมมัด อะลีย์ ได้ทำการแปลอัลกุรอานเป็นภาษาอังกฤษโดยได้บิดเบือนความหมาย และได้แต่งหนังสืออื่นๆ อีก เช่น หะกีเกาะฮฺ อัล-อิคติลาฟ, อันนุบุวะฮฺ ฟี อัล-อิสลาม และอัดดีน อัล-อิสลามีย์
ส่วน เคาญะฮฺ กะมาลุดดีน ได้แต่งหนังสือ อัล-มะษัล อัล-อะอฺลา ฟี อัล-อันบิยาอ์ และหนังสืออื่นๆ
กลุ่มอัล-ก็อดยานียะฮฺ ในเมืองละฮอร์จะมอง ฆุลาม อะหมัด มิรซา ว่าเป็นผู้ฟื้นฟู(มุญัดดิด)เท่านั้น แต่ทั้งสองกลุ่มถือเป็นขบวนการเดียวกัน เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกัน
มุหัมมัด อะลีย์ เป็นผู้นำอัล-ก็อดยานียะฮฺ ในเมืองละฮอร์ อีกทั้งยังเป็นผู้สืบราชการลับให้แก่อังกฤษ และเป็นบรรณาธิการวารสารที่เป็นกระบอกเสียงของอัล-ก็อดยานียะฮฺอีกด้วย
3. มุหัมหมัด ศอดิก ดำรงตำแหน่งเป็นมุฟตีย์ (ผู้ชี้ขาดปัญหาศาสนา) ของอัล-ก็อดยานียะฮฺ ส่วนหนึ่งจากงานเขียนของเขาคือ หนังสือ คอตัม อัน-นะบิยีน
4. บะชีรฺ อะหฺมัด บิน อัล-ฆุลาม ส่วนหนึ่งจากงานเขียนของเขาคือ สีเราะฮฺ อัล-มะฮฺดีย์, กะลิมะฮฺ อัล-ฟัศลฺ
5. มะหฺมูด อะหฺมัด บิน อัล-ฆุลาม และผู้นำก็อดยานียะฮฺ คนที่สอง ส่วนหนึ่งจากงานเขียนของเขาคือ อันวารฺ อัล-คิลาฟะฮฺ , ตุหฺฟะฮฺ อัล-มุลูก และ หะกีเกาะฮฺ อัน-นุบุวะฮฺ
การที่รัฐบาลปากีสถานได้แต่งตั้งให้ นายซ็อฟรุลลอฮฺ คาน อัล-ก็อดยานีย์ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของปากีสถานนั้น ทำให้กลุ่มแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยทางกลุ่มได้รับการจัดสรรเนื้อที่กว้างใหญ่ในแคว้นปัญจาบเพื่อเป็นศูนย์กลางของกลุ่มอัล-ก็อดยานียะฮฺสากล พวกเขาได้เรียกเขตพื้นที่ดังกล่าวว่า ร็อบวะฮฺ โดยอ้างถึงอายะฮฺหนึ่งของอัลกุรอานว่า
﴿وَءَاوَيۡنَٰهُمَآ إِلَىٰ رَبۡوَةٖ ذَاتِ قَرَارٖ وَمَعِينٖ ٥٠﴾ [المؤمنون : ٥٠]
ความว่า "และเรา(อัลลอฮฺ)ได้ให้ เขาทั้งสอง(อีซาและมารดา) ไปอยู่ทางร็อบวะฮฺ (ที่สูง) ที่มีความมั่นคงและตาน้ำ" (สูเราะฮฺ อัล-มุอ์มินูน : 50)
แนวคิดและหลักการเชื่อมั่น
แรกเริ่มนั้นฆุลาม อะหฺมัด ได้เคลื่อนไหวในฐานะนักเผยแพร่อิสลามจนมีสานุศิษย์มาห้อมล้อมมากมาย ต่อมาเขาได้อ้างตนว่าเป็นมุญัดดิด (นักฟื้นฟูศาสนา) และอ้างว่าตนได้รับการดลใจจากอัลลอฮฺ จากนั้นได้เลื่อนฐานะตนเองว่าเป็นอัล-มะฮฺดีย์ อัล-มุนตะซ็อรฺ (ผู้นำมุสลิมที่โลกรอคอย) และเป็นมัล-มะสีหฺ อัล-เมาอูด (นบีอีซา-ที่ถูกสัญญาจะลงมาบนโลกนี้อีกครั้ง) จนหนักเข้าได้อ้างตนว่าเป็นนบี และมีฐานะสูงส่งกว่าท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เสียอีก
พวกอัล-ก็อดยานีย์ เชื่อว่า อัลลอฮฺนั้นทรงถือศีลอด ทรงละหมาด ทรงบรรทม ทรงตื่น ทรงเขียน สามารถทำผิด และร่วมสังวาส (มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺจากสิ่งที่พวกเขาได้กล่าว)
พวกอัล-ก็อดยานีย์ เชื่อว่าพระเจ้าของเขามีสัญชาติอังกฤษ และตรัสด้วยภาษาอังกฤษ
พวกอัล-ก็อดยานีย์ เชื่อว่า การเป็นนบีไม่ได้สิ้นสุดที่ ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่จะมีการแต่งตั้งนบีอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ความจำเป็น และเชื่อว่า ฆุลาม อะหฺมัดนั้นเป็นนบีที่ประเสริฐกว่านบีท่านอื่นๆ ทั้งหมด
พวกอัล-ก็อดยานีย์ เชื่อว่า มลาอิกะฮฺญิบรีล ได้ลงมาพบกับ ฆุลาม อะหฺมัด และได้ประทานวะหฺยู(วิวรณ์) แก่เขา และการดลใจต่างๆ ของเขานั้นเปรียบเสมือนอัลกุรอาน
พวกอัล-ก็อดยานีย์ เชื่อว่า ไม่มีอัล-กุรอาน นอกจากคัมภีร์ที่อัล-มะสีหฺ (ฆุลาม อะหฺมัด )นำมาเสนอ ไม่มีหะดีษนอกจากคำสอนของเขา และไม่มีนบีนอกจากต้องอยู่ภายใต้การนำของฆุลาม อะหฺมัดเท่านั้น
พวกอัล-ก็อดยานีย์เชื่อว่า คัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาของพวกเขา มีชื่อว่า อัล-กีตาบ อัล-มุบีน ซึ่งไม่ใช่อัล-กุรอานุลกะรีม
พวกอัล-ก็อดยานีย์ ถือว่าพวกเขาคือเจ้าของศาสนาใหม่ มีคำสอนและบทบัญญัติที่เป็นเอกเทศ และมิตรสหายของฆุลาม อะหฺมัด มีฐานะเทียบเท่าบรรดาเศาะหาบะฮฺของนบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
พวกอัล-ก็อดยานีย์ เชื่อว่า ตำบลก็อดยาน (แหล่งกำเนิดของแนวคิดนี้) เปรียบเสมือนนครมะดีนะฮฺและนครมักกะฮฺ และมีความประเสริฐกว่าเมืองทั้งสองเสียอีก พวกเขาเชื่อว่าตำบลก็อดยาน เป็นเขตหะรอม(หวงห้าม) ดังนั้นตำบลก็อดยานถือเป็นทิศกิบลัตและสถานที่ประกอบพิธีหัจญ์ของพวกอัล-ก็อดยานียะฮฺ
พวกอัล-ก็อดยานียะฮฺเรียกร้อง ให้ยกเลิกคำสอนเกี่ยวกับอัล-ญิฮาด (การต่อสู้) นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้ภักดีต่อรัฐบาลอังกฤษอย่างมืดบอด เพราะพวกเขาอ้างว่า อังกฤษเป็นผู้ปกครองอย่างชอบธรรมตามที่ระบุในคัมภีร์อัล-กุรอาน
พวกอัล-ก็อดยานียะฮฺ เชื่อว่า มุสลิมทุกคน ในทัศนะของพวกเขาเป็นกาฟิรฺ จนกว่าจะได้ศรัทธาในแนวคิดอัล-ก็อดยานียะฮ์ เสียก่อนเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วใครที่แต่งงานให้หรือแต่งงานกับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในอัล-ก็อดยานียะฮฺเขาผู้นั้นก็เป็นกาฟิรฺเช่นกัน
พวกอัล-ก็อดยานียะฮฺ อนุญาตให้ ดื่มสุรา สูบฝิ่น เสพสารเสพติด และของมึนเมาได้
รากเหง้าของแนวคิดและหลักการเชื่อมั่น
ก่อนที่จะมีกลุ่มอัล-ก็อดยานียะฮฺนั้น ขบวนการเคลื่อนไหวของเซอร์ ซัยยิด อะหฺมัด คาน ผู้นิยมตะวันตกได้ปูทางให้กลุ่มอัล-ก็อดยานียะฮฺถือกำเนิดขึ้นและเผยแพร่หลักการที่หลงผิด
พวกอังกฤษฉกฉวยโอกาสในสภาพเช่นนี้ พวกเขาได้อุปโลกน์ขบวนการ อัล-ก็อดยานียะฮฺ ขึ้นมา และเลือกผู้นำจากตระกูลคนที่รับใช้ต่างชาติอย่างมากมาเป็นผู้นำ
ในปี ค.ศ.1953 ได้มีการลุกฮือขึ้นมาต่อต้านของประชาชนชาวปากีสถาน เรียกร้องให้ปลด นายซ็อฟรุลลอฮฺ คาน รัฐมนตรีต่างประเทศขณะนั้นออก และให้ถือว่า กลุ่ม อัล-ก็อดยานียะฮฺ เป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้เป็นมุสลิม ซึ่งในการลุกฮือครั้งนั้นมีบรรดามุสลิมล้มตายถึงหนึ่งหมื่นกว่าคน และในที่สุดพวกเขาได้รับความสำเร็จในการปลดรัฐมนตรีที่ฝักใฝ่แนวคิดอัล-ก็อดยานียะฮฺ
ในเดือนเราะบีอุลเอาวัล ฮ.ศ. 1394 ตรงกับเดือนเมษายน ค.ศ. 1974 สันนิบาตโลกมุสลิม (รอบิเฏาะฮฺ อัล-อาลัม อัล-อิสลามียฺ) ได้มีการจัดประชุมใหญ่ที่นครมักกะฮฺ โดยมีบรรดาตัวแทนขององค์กรมุสลิมต่างๆ เข้าร่วมจากทั่วทุกมุมโลก และที่ประชุมได้มีฉันทมติว่า อัล-ก็อดยานียะฮฺ เป็นกลุ่มกาฟิรฺ(ผู้ปฏิเสธศรัทธา) และพ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม และเรียกร้องให้บรรดามุสลิมต่อต้านภยันตรายจากกลุ่มนี้ ไม่คบค้าสมาคมกับกลุ่มอัล-ก็อดยานีย์ และไม่อนุญาตให้ฝังศพของพวกอัล-ก็อดยานียะฮฺร่วมสุสานของบรรดามุสลิม
สภาประชาชนแห่งปากีสถาน (สภากลาง) ได้ทำการอภิปรายประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มอัล-ก็อดยานียะฮฺ โดยมีผู้นำของกลุ่มอัล-ก็อดยานียะฮฺ คือมิรซา นาศิรฺ อะหมัด เข้าร่วมอภิปรายในครั้งนี้ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งที่ทำหน้าที่โต้กลับ ซึ่งนำโดย ฯพณฯ มุฟตีย์ (ผู้ชี้ขาดปัญหาศาสนา) ของปากีสถาน ชัยคฺ มะหมูด (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่านด้วย) การอภิปรายดังกล่าวได้ดำเนินไปเป็นเวลาเกือบสามสิบชั่วโมง ในการอภิปรายครั้งนั้น มิรซา นาศิรฺ อะหมัด ไม่สามารถที่จะตอบคำถามต่างๆ ได้ และในที่สุดหน้ากากความเป็นกาฟิรฺที่ซ่อนอยู่ของกลุ่มนี้ได้เผยออกมาให้สาธารณชนเห็น สภาจึงได้ลงมติถือว่า อัล-ก็อดยานียะฮฺ เป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่มุสลิม (คือเป็นกลุ่มกาฟิรฺ)
เหตุผลที่ทำให้ มิรซา ฆุลาม อะหฺมัด กลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา มีดังต่อไปนี้
- การอ้างว่าตัวเขาเป็นนบี
- ได้ยกเลิกข้อกำหนดการต่อสู้ (อัล-ญิฮาด) ซึ่งเป็นการรับใช้จักรวรรดินิยม
- ได้ยกเลิกการไปประกอบพิธีหัจญ์ที่นครมักกะฮฺ และเปลี่ยนไปประกอบที่ตำบลก็อดยานแทน
- เปรียบเทียบอัลลอฮฺเหมือนกับมนุษย์
- มีความเชื่อในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด
- อ้างว่าอัลลอฮฺมีบุตร และเขาเป็นบุตรของพระเจ้า
- อ้างว่านบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ได้เป็นนบีท่านสุดท้าย และคนอื่นๆ ก็มีสิทธิเป็นนบีได้เช่นกัน
อัล-ก็อดยานียะฮฺ มีความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับรัฐบาลยิวอิสราเอล จนอิสราเอลได้เปิดศูนย์และโรงเรียนต่างๆ ให้แก่พวกเขา อนุญาตให้พวกเขาได้ตีพิมพ์เผยแพร่วารสาร พิมพ์หนังสือ ตำรา และสิ่งเผยแพร่ต่างๆแจกจ่ายไปทั่วโลก
อัล-ก็อดยานียะฮฺ ได้รับอิทธิพลทางความคิดของพวกเขามาจากศาสนาคริสต์ ศาสนายูดาย และจากขบวนการศูฟีย์ อัล-บาฏินียะฮฺ อย่างชัดเจน ไม่ว่าในด้านหลักการเชื่อมั่น การประพฤติปฏิบัติของพวกเขา แม้ว่าเปลือกภายนอกพวกเขาจะแสดงความเป็นมุสลิมก็ตาม
การแพร่หลายของแนวคิดและแหล่งอิทธิพลต่างๆ
พวกอัล-ก็อดยานียะฮฺส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในอินเดีย ปากีสถาน จำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในอิสราเอล และประเทศอาหรับ พวกเขาใช้ความพยายามอย่างยิ่งและด้วยการให้ความช่วยเหลือจากจักรวรรดินิยม เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งสำคัญๆ ในประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่
พวกอัล-ก็อดยานียะฮฺ มีการเคลื่อนไหวมากในประเทศแอฟริกา และประเทศตะวันตกบางประเทศ เฉพาะในทวีปแอฟริกาอย่างเดียว กลุ่มอัล-ก็อดยานียะฮฺมีนักดาอีย์ (ผู้ทำหน้าที่ชี้แนะและเรียกร้องเชิญชวนผู้คน) ไปสู่แนวคิดอัล-ก็อดยานียะฮฺ ถึงห้าพันคน การเคลื่อนไหวที่มากมายขนาดนั้นชี้ให้เห็นว่ากลุ่มอัล-ก็อดยานียะฮฺ ได้รับการสนับสนุนแหล่งทุนจากจักรวรรดินิยม
รัฐบาลอังกฤษได้ให้การโอบอุ้มแนวคิดนี้ และอำนวยความสะดวกให้สมาชิกของพวกเขา ได้มีตำแหน่งอยู่ในหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ของโลก ในการบริหารบริษัท และสถาบันต่างๆ และแต่งตั้งพวกเขาเป็นนายทหารระดับสูงในหน่วยสืบราชการลับอีกด้วย
พวกอัล-ก็อดยานียะฮฺ มีความเคลื่อนไหวมาก ในการเรียกร้องเชิญชวน ไปสู่แนวความคิดของพวกเขา ด้วยกลวิธีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านวัฒนธรรม พวกเขาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีการศึกษาดี ซึ่งมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และแพทย์ ในอังกฤษมีสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องหนึ่งเผยแพร่ออกอากาศโดยใช้ชื่อโทรทัศน์มุสลิม แต่บริหารจัดการสถานีโดยพวกอัล-ก็อดยานียะฮฺ
สรุป
อัล-ก็อดยานียะฮฺ นั้นเป็นลัทธิเรียกร้องไปสู่ความหลงผิด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอิสลามแต่ประการใด หลักการเชื่อมั่นของอัล-ก็อดยานียะฮฺ ค้านกับอิสลามในทุกสิ่ง และควรเตือนให้บรรดามุสลิมทั้งหลาย พึงระวังกิจกรรมต่างๆ และการเคลื่อนไหวของพวกเขาในรูปแบบที่แอบแฝง หลังจากที่บรรดานักปราชญ์มุสลิมได้ชี้ขาดว่า พวกเขาเป็นกาฟิรฺ(ผู้ปฏิเสธศรัทธา)
ที่มา http://www.saaid.net/feraq/mthahb/39.htm
จากหนังสือ อัล-เมาสูอะฮฺ อัล-มุยัสสะเราะฮฺ ฟี อัล-อัดยาน วะ อัล-มะษาฮิบ โดยสภายุวมุสลิมโลก