×

موقف المسلم في أزمنة الفساد والفتن (تايلندي)

إعداد: ซุฟอัม อุษมาน

الوصف

مقالة يحاول صاحبها بيان خطورة الفساد والفتن المتنشرة بين المجتمعات البشرية في هذه الآونة من المعاصي والبعد عن الله والإسلام، ويسعى إلى بيان الموقف الذي ينبغي أن يتنبه له كل مسلم حتى يكون سالما من تلك الخطورة والآفات التي تعم جميع الفئات

تنزيل الكتاب

    มุสลิมกับยุคสมัยแห่งความยุ่งเหยิง

    ﴿موقف المسلم في أزمنة الفساد والفتن﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ซุฟอัม อุษมาน

    ผู้ตรวจทาน : ทีมงานภาษาไทยเว็บอิสลามเฮ้าส์

    2010 - 1431

    ﴿موقف المسلم في أزمنة الفساد والفتن﴾

    « باللغة التايلاندية »

    صافي عثمان

    مراجعة: فريق اللغة التايلاندية بموقع دار الإسلام

    2010 - 1431

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    มุสลิมกับยุคสมัยแห่งความยุ่งเหยิง

    เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากถ้าจะอธิบายถึงปัญหาต่างๆที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายในสังคมปัจจุบัน ว่ามีต้นเหตุมาจากไหน ดำเนินอยู่เช่นที่เห็นได้อย่างไร และอะไรคือทางออกของปัญหา? เชื่อได้ว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักวิชาการหรือปราชญ์ในสาขาวิชากว่าจะวิเคราะห์ตีแผ่หาข้อเท็จจริงออกมาได้ นับประสาอะไรกับชาวบ้านและบุคคลธรรมดาทั่วๆไป ที่ไม่เพียงใช้ชีวิตไปวันๆโดยมิใคร่สนใจว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงเช่นไร ทว่ากลับเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาไปโดยไม่ทันได้รู้สึกตัว

    ในความเข้าใจของใครบางคน ต้นเหตุแห่งความยุ่งเหยิงของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คงที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งที่ชนตะวันตกก้าวเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้นำโลก และสร้างวัฒนธรรมในแบบฉบับของตน ใช้ความแยบยลเพื่อสร้างให้สังคมโลกต้องยอมรับและนำไปใช้ทั้งเชิงบังคับและวิธีการผสมกลมกลืน บวกกับกลยุทธ์และวิธีการอื่นๆอีกหลายประการ เพื่อเปลี่ยนให้โลกเป็นไปตามที่พวกตนอยากให้เป็น

    อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าต้นสายปลายเหตุของความยุ่งเหยิงนี้จะมาจากไหน การเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัตในสังคมโลกปัจจุบันกลับมีผลกระทบและสร้างปัญหาโดยตรงต่อมุสลิม ทั้งในรูปแบบของความเสื่อมลงของศีลธรรมและจริยธรรม พฤติกรรมออกห่างคำสอนของศาสนา การประพฤติตามตะวันตกและความสับสนในคุณค่าของการเป็นมุสลิม อีกทั้งกระทบต่ออิสลามในทางอ้อม อาทิ ทัศนะที่เป็นอคติของชนต่างศาสนิก การกล่าวหาใส่ร้าย การพุ่งเป้าเพื่อสถาปนาอิสลามให้เป็นคู่อริ ด้วยธรรมชาติของอิสลามที่มีลักษณะ “ไม่สอดคล้อง" กับวัฒนธรรมวัตถุนิยมของพวกตะวันตก

    บทความนี้มิได้เขียนขึ้นเพื่ออธิบายความเป็นมาของปัญหาหรือต้องการจะพรรณนากระบวนการเกิดขึ้นของปัญหาและวิธีการขจัดปัญหาให้หมดไปแต่อย่างใดไม่ เพราะเป็นเรื่องยากเกินไปที่จะศึกษาถึงความซับซ้อนวกวนในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วในยุคสมัยนี้ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อสำรวจความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไร และไม่ว่าปัญหาจะอยู่ในรูปแบบใด เป็นเพียงมุมมองเกี่ยวกับจุดยืนในมิติหนึ่งเท่านั้น เป็นมิติที่เกี่ยวข้องกับตัวตนของมุสลิมแต่ละคนในฐานะปัจเจกบุคคลว่าควรจะทำตนเช่นไรท่ามกลางปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในศตวรรษนี้ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าการหาคำตอบว่าจะยับยั้งปัญหาหรือความเปลี่ยนแปลงได้เช่นไร ถึงแม้ว่าการหาคำตอบในลักษณะดังกล่าวก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยเช่นเดียวกัน หากแต่ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจและปฏิบัติตนในมิติที่เกี่ยวข้องกับตัวตนของเราเองได้แล้ว อาจจะทำให้เข้าใจและแก้ปัญหาในมิติอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น

    บนฐานแห่งความแน่ใจว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนที่ต้องค้นหาจุดยืนที่ถูกต้อง และปฏิบัติตนอยู่บนจุดยืนดังกล่าวด้วยความเข้มแข็ง เพื่อเผชิญกับปัญหามากมายที่ถาโถมและซับซ้อนด้วยความสับสนวุ่นวายหลายด้าน เพราะเราทุกคนถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งยุคสมัยนี้ไปแล้วอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อเราพบว่าปัญหาต่างๆรอบข้างยากเกินไปที่เราจะเปลี่ยนมันให้ดีขึ้น เหตุใดเราจึงไม่คิดจะเปลี่ยนตัวเองให้สามารถตั้งมั่นทันรับกับปัญหานั่นเสียเอง

    เราจะใช้คำสอนของอัลกุรอานและหะดีษฺเพื่อเรียบเรียงและอธิบาย โดยนัยเพื่อแสดงให้เห็นว่าคำสอนต่างๆที่ถูกบันทึกผ่านกาลเวลาอันยาวนานนั้นไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอยหรือเก่าเกินไปที่จะใช้อธิบายความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน ความอัศจรรย์ของคำสอนแห่งอิสลามเหล่านี้อาจจะก่อให้เกิดสำนึกแห่งการกลับไปหาอิสลามในใจของมุสลิมและมวลมนุษย์อีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้

    ความเป็นจริงที่เลี่ยงไม่พ้น

    หลายคนเรียกโลกสมัยนี้ว่า “ยุคสมัยสุดท้าย" ความจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่คงไม่สำคัญเท่าใดนัก แต่การขนานชื่อเช่นนั้นย่อมต้องมีที่มาที่ไปของมัน อาศัยการสังเกตความเป็นไปของสังคมโลกโดยเปรียบเทียบกับคำอธิบายของคำสอนที่ถูกถ่ายทอดมาจากท่านศาสนทูต คงพอเป็นข้ออ้างที่จะใช้เรียกยุคสมัยนี้ด้วยชื่อดังกล่าวได้

    ครั้งหนึ่งท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่าท่านเคยได้ฟังท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวไว้

    «لا يأتي عليكم عام و لا يوم إلا و الذي بعده شر منه حتى تلقوا ربكم»

    มีใจความว่า “ไม่มีปีใดหรือวันใดที่มาถึงนอกเสียจากมันจะต้องเลวร้ายกว่าวันที่ผ่านๆมา จนกระทั่งถึงวาระที่พวกท่านต้องพบองค์อภิบาลของพวกท่าน" (รายงานโดยอัล-บุคอรีย์ ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, หมายเลขหะดีษฺ 7068,7576)

    นี่เป็นคำอธิบายง่ายๆต่อกฏเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงโดยรวมของโลก คำอธิบายนี้ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอยแต่ประการใดเลย เพราะต่อมาได้มีการค้นพบกฏทางวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับหะดีษฺข้างต้นโดยไม่มีใครคาดคิด นั่นคือกฏข้อที่สองของเทอร์โมไดนามิคที่พอจะสรุปความได้ว่า ภายในระบบปิดใดๆก็ตามความยุ่งเหยิงจะเพิ่มขึ้นเสมอเมื่อเวลาผ่านไป [1]

    บางทีคำอธิบายในหะดีษฺข้างต้นอาจจะต้องการคำยืนยันด้วยการพิสูจน์ทางข้อมูลที่เป็นตัวเลข และไม่ว่าหะดีษฺข้างต้นจะเกี่ยวข้องกับกฏดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม แต่สำหรับมุสลิมเป็นการเพียงพอแล้วที่จะยอมรับและมอบความเชื่อใจด้วยการสดับฟังและปฏิบัติตามคำชี้นำของมันอย่างแน่วแน่ เพราะอย่างน้อยที่สุดเราได้เห็นเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นจริงตามที่หลักฐานได้ระบุไว้ดังจะกล่าวต่อไป

    เครื่องหมายที่เด่นชัดที่สุดสำหรับข้ออ้างว่าสมัยนี้เป็นยุคสุดท้ายของโลก คือการแพร่กระจายของอบายมุขและปัญหาสังคมหลากหลายรูปแบบและแผ่กว้าง อัลกุรอานเคยกล่าวถึงว่า

    ﴿ظَهَرَ الْفَسَادُ فِي الْبَرِّ وَالْبَحْرِ بِمَا كَسَبَتْ أَيْدِي النَّاسِ لِيُذِيقَهُم بَعْضَ الَّذِي عَمِلُوا لَعَلَّهُمْ يَرْجِعُونَ﴾ (الروم : 41 )

    “ความวิบัติ(ความผิดบาปและหายนะ) ได้เกิดขึ้นทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากสิ่งที่มือของมนุษย์ได้ทำขึ้น เพื่อที่พระองค์จะให้พวกเขาลิ้มรสผลบางส่วนจากที่พวกเขากระทำไว้ โดยหวังที่จะให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัว" (สูเราะฮฺ อัร-รูม : 41)

    เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ฉายภาพความวิบัติที่จะเกิดขึ้นเป็นสัญญาณแห่งโลกาวสานไว้มากมายโดยมีตัวอย่างดังนี้

    «يتقارب الزمان و يقبض العلم و يلقى الشح و تظهر الفتن و يكثر الهرج قيل : و ما الهرج ؟ قال : القتل»

    “ระยะเวลาจะสั้นลง ความรู้(แห่งทางนำ)จะถูกยึด(หมายถึงจะค่อยๆ เลือนหาย) ความละโมบจะถูกโยน(เข้าไปในใจผู้คน) ความวุ่นวายจะปรากฏ และจะเกิดการฆาตกรรมอย่างมากมาย" (ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, หมายเลขหะดีษฺ 8020)

    «إن من أشراط الساعة أن يرفع العلم و يظهر الجهل و يفشو الزنا و يشرب الخمر ... »

    “แท้จริงในจำนวนสัญญาณแห่งโลกาวสานนั้นคือ ความรู้(ที่เป็นทางนำ)จะถูกยกขึ้น(จนเหือดหาย) อวิชชา(การไร้ศีลธรรม)จะผุดขึ้นชัดเจน การผิดประเวณีจะแพร่ขยาย สุรา(หรือสิ่งมึนเมา)จะระบาดไปทั่ว..." (ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, หมายเลขหะดีษฺ 2206)

    «والذي نفسي بيده، لا تفنى هذه الأمة حتى يقوم الرجل إلى المرأة فيفترشها في الطريق، فيكون خيارهم يومئذ من يقول : لو واريتها وراء هذا الحائط»

    “ขอสาบานด้วยพระองค์ผู้ซึ่งชีวิตข้าอยู่ในหัตถ์แห่งพระองค์ ประชาชาตินี้จะไม่สูญสลายตราบกระทั่งมีเหตุการณ์ที่มีผู้ชายลุกขึ้นยืนไปหาผู้หญิง แล้วได้ร่วมนอนกับหล่อนกลางถนน(โดยไม่มีใครกล้าห้าม) คนที่ดีที่สุดในยามนั้นได้เพียงแต่กล่าวว่า 'โอ้ ท่านน่าจะทำกับนางเช่นนี้หลังกำแพงนั้น'" (รายงานโดย อบู ยะอฺลา ใน อัล-มุสนัด ของท่าน เลขที่ 6183, ดู มัจญ์มะอฺ อัซ-ซะวาอิด, 7:331)

    «والذي نفسي بيده ليأتين على الناس زمان لا يدري القاتل في أي شيء قتل و لا يدري المقتول في أي شيء قتل»

    “ขอสาบานด้วยพระองค์ผู้ซึ่งชีวิตข้าอยู่ในหัตถ์แห่งพระองค์ แท้จริงจะมีช่วงเวลาหนึ่งมาถึงยังมนุษยชาติ ที่ฆาตกรไม่รู้ว่าเหตุใดที่เขาฆ่าคนอื่น ผู้ถูกสังหารเองก็ไม่รู้ว่าเหตุใดตนถูกฆ่า" (ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, หมายเลขหะดีษฺ 7076)

    «ليأتين على الناس زمان لا يبالي المرء بما أخذ المال ؟ أمن حلال أم من حرام ؟»

    “จะมียุคสมัยหนึ่งมาถึงมนุษย์ ที่คนคนหนึ่งจะไม่สนใจว่า เขาได้รับทรัพย์สินมาจากไหน ได้มาจากสิ่งที่ฮาลาลหรือหะรอม" (ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, หมายเลขหะดีษฺ 5344)

    คำอธิบายในหะดีษฺต่างๆทั้งหมดข้างต้นนั้น คงมิต้องขยายความมากมายให้เสียเวลาอีกต่อไป เพราะสภาพความเป็นจริงในสังคมแห่งยุคสมัยล้วนเป็นที่เปิดเผยต่อปุถุชนทั่วๆไปแล้ว และนี่คือการอธิบายของคำสอนแห่งอิสลาม ที่ขอให้เราท่านช่วยใช้วิจารณญาณดูว่ามันสอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันหรือไม่อย่างไร ?

    ไม่มีใครที่ใฝ่หาอยากจะพบกับความยุ่งเหยิงและความวุ่นวายของปัญหาต่างๆที่น่ากลัวเหล่านั้น เพราะมีคนผู้ใดเล่าต้องการจะมีชีวิตด้วยความทุกข์ที่บั่นทอนมากกว่าความสุขที่มั่นคง หากแต่ไม่ว่าจะปรารถนาหรือไม่ก็ตาม ปัญหามากมายเหล่านั้นก็ได้เกิดขึ้นแล้ว มีหลายครั้งด้วยซ้ำที่มันอยู่ใกล้เราเพียงแค่ปลายจมูกนี่เอง

    แค่ไม่กี่ช่วงเวลาที่ผ่านมา มวลมนุษย์ต่างก็เห็นแล้วว่าปัญหาสังคมที่เพิ่มขึ้นทุกวันสร้างความเสื่อมโทรมให้กับโลกมากเพียงใด นับวันเมื่อต้องพัวพันกับมันมากขึ้น ความรู้สึกปลอดภัยและความเข้มแข็งของจิตใจก็ยิ่งลดน้อยถอยลง ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เสียแล้วที่จะปิดหูปิดตาสลัดมันให้พ้นไกลไปจากชีวิต

    เมื่อการเผชิญหน้าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ จึงควรต้องเตรียมตัวและหาวิธีการที่ดีที่สุด และแข็งแกร่งพอที่จะต้านกระแสความวิบัติที่เชี่ยวกรากและรุนแรง ซึ่งโดยพื้นฐานทั่วไปที่ผู้เป็นมุสลิมแต่ละคนสามารถยึดใช้และปฏิบัติได้น่าจะมีอยู่สามระดับด้วยกัน คือ

    1. สร้างพลังในตัวเอง

    พลังที่หมายถึงคือความเข้มแข็งของจิตใจ สิ่งเดียวที่สามารถทำให้ใจของผู้ศรัทธาเข้มแข็งได้คืออีมาน น้อยคนนักที่จะเข้าใจว่าอีมานคือสิ่งที่แฝงด้วยพลังต่อต้านด้านมืดของจิตใจได้อย่างน่าประหลาด ในแง่นี้ท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยอธิบายว่า การกระทำผิดบาปนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อยามที่อีมานในใจแฟบลงจนไม่สามารถต้านทานความต้องการด้านชั่วที่เข้ามาครอบงำชั่วขณะนั้น

    «لا يزني الزاني حين يزني و هو مؤمن و لا يسرق السارق حين يسرق و هو مؤمن و لا يشرب الخمر حين يشربها و هو مؤمن و التوبة معروضة بعد»

    “ไม่มีผู้ผิดประเวณีที่กระทำการนั้นในขณะที่มีอีมานอยู่ ผู้ใดจะไม่ขโมยทรัพย์ทั้งๆที่เขามีอีมานอยู่ และใครก็ตามจะไม่ดื่มสุราในขณะที่เขาเป็นผู้ที่มีอีมานอยู่ หลังจากนั้นการอภัยโทษจะถูกนำมาเสนอแก่เขา" (รายงานโดยมุสลิม, ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, หมายเลขหะดีษฺ 7706)

    การมีอีมานคือการที่มุสลิมผูกพันกับพระผู้เป็นเจ้าอยู่ตลอดเวลา ด้วยความศรัทธาที่ฝังลึกในใจ การเอ่ยรำลึกด้วยวาจา และการประพฤติปฏิบัติในขอบเขตที่พระองค์พอพระทัย ความสำคัญของอีมานเป็นสิ่งที่ยากต่อการสาธยายให้ละเอียด แต่มุสลิมก็สัมผัสได้ด้วยการปฏิบัติจริง ทุกความรู้สึกที่ทำให้เรานึกถึงอัลลอฮฺคืออีมาน ทุกคำพูดที่ทำให้เราสำนึกในการเป็นบ่าวของอัลลอฮฺคืออีมาน ทุกการกระทำเพื่อค้นหาความปรารถนาการใกล้ชิดอัลลอฮฺถือว่าเป็นอีมาน สรุปแล้วอีมานก็คือ

    (لَيْسَ الْإِيمَانُ بِالتَّحَلِّي وَلَا بِالتَّمَنِّي، وَلَكِنَّه مَا وَقَرَ في الصّدورِ وَصَدَّقَتْه الْأَعْمَالُ)

    “อีมาน ไม่ใช่ได้มาด้วยการตกแต่งหรือคาดหวังลมๆแล้งๆ แต่ทว่า มันคือสิ่งที่ปักหลักอยู่ในใจ และเผยออกมาให้เห็นจริงด้วยการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม" [2]

    ดังนั้นอีมานจะอยู่ในตัวเสมอถ้าตราบใดที่มุสลิมไม่หลงลืมอัลลอฮฺและไม่ละเลยหน้าที่ในการปฏิบัติกิจที่ถูกบัญชาให้ทำ ดีกรีของอีมานจะลดลงถ้าเมื่อใดที่ความผูกพันกับอัลลอฮฺดูห่างเหิน ความสำคัญจึงอยู่ที่การรักษาระดับของอีมานให้เพิ่มอยู่ตลอดเวลา เรื่องนี้สำคัญหรือไม่ขนาดไหนคงพอจะตอบได้ด้วยแนวทางของเหล่าอัครสาวกแห่งท่านศาสนทูตที่มักจะเชิญชวนพวกเขาด้วยกันเองเสมอว่า

    (هَلُمُّوا نَزْدَدْ إِيمَانًا)

    (اجْلِسْ بِنَا نُؤْمِنْ سَاعَة)

    “มาเถิดพวกเรา มานั่งเพื่ออีมานสักครู่ยามเถิด!" [3]

    กิจที่เศาะหาบะฮมักจะทำร่วมกันเป็นประจำคือการนั่งเป็นกลุ่มเพื่อขัดเกลาอีมานให้ใหม่เอี่ยมและเพิ่มขึ้นด้วยการกล่าวระลึกถึงอัลลอฮฺและศึกษาถ้อยดำรัสของพระองค์

    ถึงแม้ว่าการปฏิบัติกิจทุกประเภทสามารถเพิ่มอีมานให้เข้มแข็งได้ กระนั้นการอ่านและศึกษาอัลกุรอานอย่างพินิจพิเคราะห์คือเหตุแห่งการเพิ่มอีมานได้ดีที่สุด ดังที่มีปรากฏในดำรัสของอัลลอฮฺ

    ﴿إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ الَّذِينَ إِذَا ذُكِرَ اللّهُ وَجِلَتْ قُلُوبُهُمْ وَإِذَا تُلِيَتْ عَلَيْهِمْ آيَاتُهُ زَادَتْهُمْ إِيمَاناً وَعَلَى رَبِّهِمْ يَتَوَكَّلُونَ﴾ (الأنفال : 2 )

    ซึ่งมีความว่า “แท้จริงแล้วบรรดาผู้ศรัทธานั้น คือผู้ที่เมื่อใดมีการกล่าวถึงอัลลอฮฺแล้วหัวใจของพวกเขาจะครั่นคร้าม และเมื่อใดที่ดำรัสแห่งพระองค์ถูกอ่านแก่พวกเขา อีมานของพวกเขาก็จะเพิ่มขึ้น" (อัล-อันฟาล : 2)

    ในที่สุดเมื่ออีมานคงสถิตอยู่กับผู้ใดแล้ว ความมั่นคงของจิตใจก็จะเข้มแข็งและเปี่ยมด้วยแรงต้านทานที่ไม่อาจล้มต่อหน้าการกระแทกของแรงอบายมุขและความผิดบาปที่พึงแต่จะสร้างปัญหาและนำความวิบัติมาให้ ไม่ว่าการกระทบกระทั่งจะหนักหน่วงเพียงใดก็ตาม นี่คือคำสัญญาที่ถูกบันทึกในมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

    ﴿يُثَبِّتُ اللّهُ الَّذِينَ آمَنُواْ بِالْقَوْلِ الثَّابِتِ فِي الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَفِي الآخِرَةِ وَيُضِلُّ اللّهُ الظَّالِمِينَ وَيَفْعَلُ اللّهُ مَا يَشَاءُ﴾ (إبراهيم : 27 )

    ซึ่งมีความว่า “อัลลอฮฺจะทำให้บรรดาผู้ศรัทธานั้นมั่นคงด้วยด้วยถ้อยคำที่มั่นคง(คือปฏิญาณแห่งศรัทธา) ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า" (อิบรอฮีม : 27)

    เมื่ออีมานในใจมั่นคง ความประพฤติอยู่ในกรอบแห่งความเชื่อมั่นในพระเจ้า และความผิดบาปไม่สามารถเข้ามากล้ำกรายทำร้ายความเข้มแข็งของความศรัทธา ชีวิตนี้จะดำรงอยู่ด้วยสิ่งใดได้นอกเสียจากความสุขสมที่ต่างคนต่างใฝ่หาและพึงพอใจ อีกครั้งหนึ่งที่อัลลอฮฺบอกกับเราไว้ในดำรัสของพระองค์

    ﴿مَنْ عَمِلَ صَالِحاً مِّن ذَكَرٍ أَوْ أُنثَى وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَلَنُحْيِيَنَّهُ حَيَاةً طَيِّبَةً وَلَنَجْزِيَنَّهُمْ أَجْرَهُم بِأَحْسَنِ مَا كَانُواْ يَعْمَلُونَ﴾ (النحل : 97 )

    ซึ่งมีความว่า “ผู้ใดที่ปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง และเขานั้นเป็นผู้ศรัทธา ขอสาบานอย่างแน่นอนว่าเราจะทำให้เขาดำรงชีพด้วยชีวิตที่ดี และเราจะตอบแทนพวกเขาซึ่งรางวัลที่ดีที่สุดด้วยสิ่งที่พวกเขาได้ทำไว้เป็นแน่แท้" (อัน-นะหฺลิ : 97)

    สรุปแล้วในระดับปัจเจกบุคคล สิ่งที่มุสลิมทุกคนพึงกระทำคือการเอาใจใส่อีมานของตัวเอง ซึ่งรวมตั้งแต่การฟูมฟักความเชื่อมั่นศรัทธาในใจ การเอื้อนเอ่ยรำลึกถึงอัลลอฮฺด้วยถ้อยวาจาอย่างสม่ำเสมอ และการประพฤติปฏิบัติกิจในกรอบแห่งบัญชาของพระองค์ด้วยความเคร่งครัด เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเองในการเผชิญหน้ากับปัญหาและการเปลี่ยนแปลงที่ยุ่งเหยิงและไม่อาจคาดเดาว่าจะรุนแรงเพียงใด

    2. บ้านเป็นที่อันปลอดภัย

    สังเกตดูได้เลยว่าความวุ่นวายของปัญหามากมายมักจะอยู่นอกบ้าน เราไม่ปฏิเสธว่าปัญหาอาจจะมีอยู่ในบ้านได้เหมือนกัน กระนั้นคงไม่มากกว่าข้างนอก และอาณาบริเวณของบ้านก็ไม่ได้ใหญ่โตหรือกว้างเสียจนยากแก่การหาวิธีขจัดปัญหาได้โดยง่าย ท่ามกลางความรุนแรงของกระแสสังคมเช่นปัจจุบัน บ้านอาจจะเป็นสถานที่แรกด้วยซ้ำที่น่าจะปลอดภัยที่สุด

    ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยปรารภไว้ว่า

    «طوبى لمن ملك لسانه و وسعه بيته و بكى على خطيئته»

    “จำเริญเถิดผู้ที่สามารถควบคุมลิ้นได้ ผู้ที่มีบ้านกว้างพอสำหรับความปลอดภัยของเขา และผู้ที่ร้องไห้กับความผิดของตน" (รายงานโดย อัฏ-เฏาะบะรอนีย์, ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, หมายเลขหะดีษฺ 3929)

    แน่นอน ถ้าบ้านเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด การออกนอกบ้านก็เท่ากับการออกไปหาความวิบัติโดยแท้ เหมือนแกว่งเท้าหาเสี้ยนหรืออะไรประมาณนั้น ในยุคสมัยที่สังคมเต็มไปด้วยหายนะ คนที่ปลอดภัยที่สุดกลับเป็นคนที่ไม่ต้องออกไปทำอะไรเลย ความหมายนี้มีอยู่ในวจนะของท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า

    «ستكون فتن القاعد فيها خير من القائم و القائم فيها خير من الماشي و الماشي فيها خير من الساعي من تشرف لها تستشرفه و من وجد فيها ملجأ أو معاذا فليعذ به»

    “ความวุ่นวายต่างๆจะเกิดขึ้น ผู้ที่นั่งอยู่จะดีกว่าคนที่ลุกขึ้นยืน ผู้ที่ยืนอยู่จะดีกว่าคนที่กำลังเดิน และผู้ที่เดินอยู่จะดีกว่าคนที่กำลังวิ่ง ผู้ใดที่เชิดชูมัน มันก็จะเข้าหา และผู้ใดพบที่พำนักหรือที่กำบังให้เขาหลบอยู่ที่นั่น" (รายงานโดยอะหมัด อัล-บุคอรีย์และมุสลิม, ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, หมายเลขหะดีษฺ 3624)

    ดูเหมือนเราจำต้องรู้ว่า การเอาใจใส่บ้านและครอบครัวเป็นภาระหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ถึงขนาดถูกบัญญัติไว้ในอัลกุรอาน

    ﴿يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا قُوا أَنفُسَكُمْ وَأَهْلِيكُمْ نَاراً وَقُودُهَا النَّاسُ وَالْحِجَارَةُ﴾ (التحريم : 6 )

    ซึ่งมีความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา จงปกป้องตัวของพวกเจ้า และครอบครัวของพวกเจ้าให้ปลอดพ้นจากไฟนรก ซึ่งเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และก้อนหิน" (อัต-ตะหฺรีม : 6)

    การทำให้บ้านและครอบครัวปลอดจากไฟนรก คือการเอาใจใส่สมาชิกในบ้านให้ดำเนินอยู่บนครรลองแห่งอิสลาม การทำให้บรรยากาศในบ้านเต็มไปด้วยความรัก ความเข้าใจ เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม และมีชีวิตด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺ

    «مثل البيت الذي يذكر الله فيه و البيت الذي لا يذكر الله فيه مثل الحي و الميت»

    “อุปมาบ้านที่มีการรำลึกถึงอัลลอฮฺ กับบ้านที่ไม่มีการรำลึกถึงอัลลอฮฺ อุปมัยดังเช่นคนที่มีชีวิตกับคนที่ไม่มีชีวิต" (ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, หมายเลขหะดีษฺ 5827)

    ถ้าเราแต่ละคนต้องการอีมานเพื่อเป็นเกราะป้องกันและภูมิคุ้มกันความหายนะให้กับตัวเอง บ้านและครอบครัวก็ย่อมต้องการบรรยากาศแห่งอีมานเพื่อใช้ป้องกันความหายนะไม่ให้เข้ามาทำลายความสงบสุขในบ้าน

    เมื่อเป็นเช่นนี้จึงควรตระหนักถึงวิถีแห่งอิสลามที่ได้สั่งสอนให้มุสลิมทุกคนเอาใจใส่บ้านและครอบครัว รวมทั้งเอาใจใส่แนวทางของการรักษาอีมานในบ้านตามที่ได้รับการชี้นำจากท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม อาทิเช่นการกล่าวพระนามของอัลลอฮฺและการให้สลามก่อนเข้าบ้าน การอ่านอัลกุรอานในบ้าน การอ่านดุอาอฺในอิริยาบทต่างๆ เช่นเมื่อทานอาหาร สวมใส่เสื้อผ้า การเข้าห้องน้ำ ฯลฯ ผู้เป็นพ่อแม่สามารถที่จะทำตัวอย่างให้กับลูกๆในเรื่องนี้ได้ดีที่สุด มีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายที่ควรแก่การศึกษาและนำมาใช้เป็นวิธีการเพิ่มพูนอีมานให้กับบ้านและครอบครัวได้

    ยังมีผู้คนอีกมากมายในโลกไม่มีบ้านและที่อยู่อาศัย บรรดาผู้ที่อัลลอฮฺเมตตาพวกเขาให้มีบ้านเรือนเป็นชายคาที่พักจึงควรสำนึกถึงความสำคัญของบ้าน โดยไม่ละเลยที่จะทำหน้าที่ในการสร้างบ้านและครอบครัวให้เป็นที่โปรดปรานของอัลลอฮฺ และเป็นที่พึ่งพิงเมื่อความวิบัติมากมายในสังคมท่วมหลากจนหาที่หลบไม่ได้อีกต่อไป คำถามที่ชวนคิด ณ ที่นี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้สมาชิกในครอบครัวชอบที่จะอยู่บ้านมากกว่าออกไปเตร็ดเตร่ข้างนอก? เพราะถ้าหากปัญหาและความวุ่นวายในสังคมมีมากจนเกินความสามารถที่จะเผชิญหน้า บางครั้งเราก็จำต้องหาที่หลบกำบังเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

    3. แบ่งส่วนหนึ่งของชีวิตเพื่อส่วนรวม

    ด้วยการร่วมส่งเสริมความดีและช่วยกันยับยั้งความชั่ว อันเป็นปัจจัยพื้นฐานของความเจริญและความสงบสุขในสังคม ถึงแม้ว่านับวันโลกจะยิ่งเสื่อมโทรมและปัญหายิ่งเพิ่มมากขึ้นจนมิอาจมีกำลังพอที่จะแก้ไขหรือต้านทานได้ กระนั้นการนิ่งเฉยโดยไม่ได้ทำอะไรเลยก็เปรียบเสมือนการยอมรับและจำนนตนต่อความเสื่อมโทรมนั้นเสียเอง

    ไม่แน่ว่าบางทีการอยู่เฉยๆก็กลายเป็นการส่งเสริมให้หายนะเข้าใกล้เราเพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้ ที่แน่ๆ การละเลยที่จะสกัดกั้นและขจัดความชั่วให้หมดไปจากสังคมคือมูลเหตุแห่งการลงโทษของอัลลอฮฺต่อผู้อาศัยบนหน้าแผ่นดิน ที่ปรากฏขึ้นในรูปแบบของความวิบัติต่างๆที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้วบางส่วน

    «والذي نفسي بيده لتأمرن بالمعروف و لتنهون عن المنكر أو ليوشكن الله أن يبعث عليكم عقابا من عنده ثم لتدعنه فلا يستجيب لكم»

    “ขอสาบานด้วยพระองค์ผู้ซึ่งชีวิตข้าอยู่ในหัตถ์แห่งพระองค์ พวกท่านต้องร่วมสั่งเสียในความดี หักห้ามจากความชั่ว หรือ(ถ้าพวกท่านไม่ทำเช่นนั้น)เห็นทีอัลลอฮฺจะส่งการลงโทษของพระองค์ลงมายังพวกท่าน เมื่อนั้นแม้พวกท่านจะวิงวอนขอจากพระองค์ พระองค์ก็จะไม่ทรงตอบรับ" (เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, หมายเลขหะดีษฺ 7070)

    เมื่อใดที่อัลลอฮฺประสงค์จะส่งความวิบัติลงมายังมนุษย์บนโลกพระองค์จะไม่เลือกว่ามีใครบ้างที่ควรต้องประสบกับความวิบัตินั้น แต่มันจะลงมาโดนมนุษย์ทุกคนโดยไม่เลือกหน้า

    ﴿وَاتَّقُواْ فِتْنَةً لاَّ تُصِيبَنَّ الَّذِينَ ظَلَمُواْ مِنكُمْ خَآصَّةً وَاعْلَمُواْ أَنَّ اللّهَ شَدِيدُ الْعِقَابِ﴾ (الأنفال : 25 )

    “พวกเจ้าจงระวังการลงโทษ(ที่อัลลอฮฺใช้ทดสอบ)ที่จะไม่ประสบกับบรรดาผู้อธรรมเท่านั้น และจงรู้เถิดว่าอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้หนักหน่วงในการลงโทษ" (สูเราะฮฺ อัล-อันฟาล : 25)

    สำนึกในการส่งเสริมความดีและคุณธรรมพร้อมกับการต่อต้านความชั่วนั้นเป็นคุณลักษณะของประชาชาติที่ประเสริฐ

    ﴿كُنتُمْ خَيْرَ أُمَّةٍ أُخْرِجَتْ لِلنَّاسِ تَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَتَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَتُؤْمِنُونَ بِاللّهِ وَلَوْ آمَنَ أَهْلُ الْكِتَابِ لَكَانَ خَيْراً لَّهُم مِّنْهُمُ الْمُؤْمِنُونَ وَأَكْثَرُهُمُ الْفَاسِقُونَ﴾ (آل عمران : 110 )

    “พวกเจ้านั้นเป็นประชาชาติอันประเสริฐสุดที่ถูกให้กำเนิดขึ้นมาเพื่อมนุษยชาติ ด้วยการที่พวกเจ้าสั่งเสียในความดี หักห้ามยับยั้งจากความชั่ว และด้วยการที่พวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺ" (สูเราะฮฺ อาล อิมรอน : 110) สำนึกเช่นนี้นับได้ว่าเป็นคุณลักษณะหนึ่งของผู้ศรัทธาที่แท้จริงและควรมีอยู่คู่มุสลิมทุกคน

    ความยุ่งเหยิงและหายนะที่เกิดขึ้นในสังคมล้วนมาจากมนุษย์ยามที่อีมานไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัวพวกเขา แน่นอนการตักเตือนระหว่างกันจึงนับว่ามีประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างยิ่ง เพราะวิสัยมนุษย์มักจะเผลอและหลงลืมอยู่เป็นนิจ

    ﴿وَذَكِّرْ فَإِنَّ الذِّكْرَى تَنفَعُ الْمُؤْمِنِينَ﴾ (الذاريات : 55 )

    “และจงตักเตือนเถิด เพราะแท้จริงการตักเตือนนั้นให้คุณประโยชน์แก่ปวงผู้ศรัทธา" (สูเราะฮฺ อัล-ซารียาต : 55)

    ไม่เป็นข้ออ้างเลยถ้าหากใครจะกล่าวว่าตนไม่มีความสามารถหรือไม่มีคุณสมบัติพร้อมพอที่จะบอกให้คนอื่นทำดีหรือห้ามคนอื่นจากการทำชั่ว ด้วยมีความรู้น้อยและตัวเองก็ไม่ได้ดีเกินไปกว่าคนอื่นเท่าใดนัก เพราะบทบัญญัติของผู้อภิบาลไม่ได้เรียกร้องอะไรเกินความสามารถที่ใครคนหนึ่งจะทำได้ ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อภารกิจเท่าที่ตนสามารถจะปฏิบัติได้เท่านั้น

    «من رأى منكم منكرا فليغيره بيده فإن لم يستطع فبلسانه فإن لم يستطع فبقلبه و ذلك أضعف الإيمان»

    “ใครคนหนึ่งในพวกท่านที่เห็นความชั่ว เขาจะต้องเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือของเขา ถ้าไม่มีความสามารถให้เขาใช้ปากพูด และถ้ายังทำไม่ได้อีกให้เขาคิดปฏิเสธสิ่งนั้นในใจ และนั่นคือความศรัทธาขั้นต่ำสุด" (หะดีษฺ ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ, หมายเลขหะดีษฺ 6250)

    อิสลามไม่ได้บังคับหรือร้องขอให้ใครเลิกทำงานอย่างอื่นเพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ แต่ใครมีอาชีพมีตำแหน่งอะไรก็สามารถที่เป็นผู้สร้างสรรค์ความดีและปราบปรามความชั่วในกรอบที่ตัวเองทำงานอยู่ได้ คนเป็นพ่อแม่ก็มีหน้าที่ดูแลนิสัยของลูกๆ ผู้เป็นเจ้านายก็ให้รับผิดชอบคนที่อยู่ใต้การดูแล มิตรสหายก็สามารถทำตัวอย่างที่ดีให้คนรอบข้างเขา คนที่เก่งพูดก็ใช้ด้วยการพูด ใครที่พูดไม่เก่งก็ใช้ด้วยการเขียน คนที่ไม่เก่งทั้งพูดทั้งเขียนแต่มีทรัพย์อยู่บ้างก็ใช้จ่ายเพื่อสมทบกิจกรรมส่งเสริมจริยธรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ใครก็ตามสามารถทำได้เพื่อร่วมสนับสนุนความดีให้แพร่ขยายและยับยั้งความชั่วไม่ให้ลุกลาม

    ต้นกำเนิดของปัญหาและความยุ่งเหยิงมากมายในสังคมมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่เอาแต่ใจตัวเองและใฝ่แต่ความสุขชั่ววูบตามตัณหา ถ้าหากมุสลิมผู้ซึ่งมีความเข้าใจในเรื่องเช่นนี้นิ่งดูดายไม่คิดจะมีส่วนร่วมเพื่อเปลี่ยนแปลงและหักห้าม มีผู้ใดอีกเล่าที่มีคุณสมบัติดีพอจะรับผิดชอบต่อหน้าที่นี้

    อย่างไรก็ตาม กระบวนการและวิธีการต่างๆในการร่วมกันสนับสนุนความดีและต่อต้านความชั่ว อาจจะต้องขยายความและพูดกันให้ละเอียดอีกต่อไป แต่ก้าวแรกในครั้งนี้คือการสร้างสำนึกให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นคนที่มีชีวิตและไม่เน่าตายลอยไปตามกระแสสังคม เพราะปลาตัวหนึ่งที่แหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรกว้าง ไม่มีวันที่เนื้อจะกลายไปมีรสเค็มตราบใดที่มันยังมีชีวิต แต่เมื่อใดมันตาย แค่เกลือถ้วยเดียวก็พอที่จะทำให้มันเป็นปลาเค็มได้แล้ว

    บทสรุป

    ยิ่งนับวันโลกยิ่งเปลี่ยนไปรวดเร็ว ซับซ้อนด้วยปัญหาที่แผ่ วงกว้างมากขึ้น ดึงให้เราต้องเข้าไปพัวพันและมีส่วนกับมันจนมิอาจจะหลีกหนีได้พ้น เมื่อพละกำลังและความสามารถที่มีอยู่ไม่พอที่จะใช้ควบคุมโลกให้ดีได้ สิ่งที่ต้องทำคือการเผชิญหน้า พยายามอย่างที่สุดเพื่อลดปัญหามากมายเหล่านั้นให้น้อยลง หรืออย่างน้อยก็สกัดกั้นไม่ให้มันเพิ่มขึ้น เพราะการนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลย ไม่เพียงเป็นการจำยอมให้ความวุ่นวายเข้ามาทำลายสภาพสังคมเท่านั้น แต่ผลกระทบในด้านลบย่อมต้องเกี่ยวพันมาถึงตัวเราเองด้วยเช่นกัน

    ปัญหาสังคมแห่งยุคสมัย ถ้าพินิจดูแล้ว ช่างรุนแรงหนักหนาเสียเหลือเกิน ไม่ใช่แค่ผู้ที่ต่อสู้กับมันเท่านั้นที่ต้องการความเข้มแข็งและพลังในการต่อกร คนที่ใช้ชีวิตปกติธรรมดาสามัญก็ยังต้องเพียบพร้อมด้วยความแข็งแกร่งของจิตใจและปราการแห่งอีมานที่มั่นคง เพื่อใช้ป้องกันไม่ให้ความวิบัติหลากชนิดเหล่านั้นเข้ามาสร้างความหายนะให้กับตัวเองได้ อีมานคือภูมิคุ้มกันสำคัญที่มุสลิมทุกคนต้องฉีดเข้าไปเพื่อสร้างความต้านทานให้กับตัวเอง

    กระนั้นก็ตาม เรายังต้องการที่กำบังและหลบซ่อน เพื่อฟื้นฟูและรักษาพลังของตัวเองให้ดีอยู่เสมอ หลังจากที่ต้องออกไปคลุกเคล้าปะปนกับปัญหาและความวุ่นวายข้างนอก ที่มักจะบั่นทอนให้พลังอีมานในตัวลดลงอยู่เป็นประจำ

    ท้ายที่สุดแล้ว เราจำเป็นที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม หาความรู้จากอัลกุรอานและคำสอนของท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เพื่อให้รู้ว่าจะทำเช่นไรให้อีมานเพิ่มขึ้นและอยู่กับตัวเสมอ จะทำอย่างไรให้บ้านเป็นที่ปลอดภัย และจะทำอย่างไรเพื่อร่วมกันดูแลสังคม ท่ามกลางความยุ่งเหยิงเช่นนี้? อัลลอฮฺเท่านั้นเป็นผู้ชี้ทาง.

    [1] ฮอร์กิ้ง, สตีเฟน (รอฮีม ปรามาท ผู้แปล). ประวัติย่อของกาลเวลา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546. (หน้า 180)

    [2] จากคำกล่าวของหะสัน อัล-บัศรีย์, อ้างจาก อัล-หะนะฟีย์, อิบนุ อะบิล อิซฺ (อับดุลลอฮฺ อิบนุ อับดุลมุหฺสิน อัต-ตุรกีย์ และเพื่อน บรรณาธิการ). ชัรฺหุ อัล-อะกีดะฮฺ อัฏ-เฏาะหาวิยะฮฺ. เบรุต : อัร-ริสาละฮฺ, 2000 (2:473)

    [3] จากคำกล่าวของอุมัรฺ อิบนุ อัล-ค็อฏฏอบ, มุอาซ อิบนุ ญะบัล และอับดุลลอฮฺ อิบนุ เราะวาหะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุม, ดู อัล-หะนะฟีย์, อิบนุ อะบิล อิซฺ. อ้างแล้ว (2:481-482)

    معلومات المادة باللغة الأصلية