×

حب النبي وعلاماته : الحرص على رؤيته وصحبته (تايلندي)

إعداد: ฟัฎล์ อิลาฮีย์ เซาะฮีร

الوصف

حب النبي صلى الله عليه وسلم وعلاماته، العلامة الأولى : الحرص على رؤيته وصحبته ويكون فقدهما أشد من فقد أي شيء آخر في الدنيا، ذكر بعض النماذج على ذلك من سير الصحابة رضوان الله عليهم، من تأليف فضيلة الأستاذ الدكتور فضل إلهي

تنزيل الكتاب

    รักนบี g และเครื่องหมาย :

    การปรารถนาที่จะเห็นและอยู่ร่วมกับท่าน

    ﴿ حب النبي g وعلاماته، العلامة الأولى : الحرص على رؤيته وصحبته ويكون فقدهما أشد من فقد أي شيء آخر في الدنيا﴾

    ดร.ฟัฎลฺ อิลาฮีย์

    แปลโดย : อุสมัน สามะ, ไฟซอล ตำภู

    ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือรักนบีและสัญญาณ


    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    การรักนบี g และเครื่องหมายบ่งชี้ถึงความรักดังกล่าว

    ตอนที่สาม 

    เครื่องหมายแห่งการรักนบีผู้มีเกียรติ g

    การรักนบีผู้มีเกียรติ g นั้นมีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายหลายประการด้วยกันซึ่งบรรดานักวิชาการมุสลิมได้ระบุไว้แล้ว ตัวอย่างเช่นที่ อัล-กอฎี อิยาฎฺ ได้กล่าวว่า “หนึ่งในเครื่องหมายแห่งการรักนบี คือ การสนับสนุนแนวทางของท่านพร้อมปกป้องศาสนา(ที่ท่านนบีได้นำมา) และปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกับท่านเพื่อจะได้ทุ่มเททั้งชีพและทรัพย์สินเพื่อท่าน”[1]

    อัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัรได้กล่าวว่า “และหนึ่งในสัญลักษณ์ดังกล่าวก็คือ เมื่อเขาได้รับข้อเสนอ(สมมุติ)ให้เลือกระหว่างที่ต้องสูญเสียของบางสิ่งบางอย่างของตนกับการที่ต้องสูญเสียการได้พบเห็นท่านนบี g เขาจะมีความรู้สึกลำบากใจยิ่งที่จะต้องสูญเสียประการหลัง(การที่ไม่ได้พบท่านนบี)มากกว่าการสูญเสียของบางสิ่งบางอย่างของตนไป จึงนับได้ว่าเป็นผู้มีคุณลักษณะของผู้ที่รักนบีดังที่กล่าวข้างต้นจริง ไม่เช่นนั้นแล้วก็คงไม่อาจนับว่าเป็นผู้หนึ่งที่รักนบีอย่างแท้จริงได้  และสิ่งเหล่านั้นใช่ว่าจะขึ้นอยู่กับการที่มีความรู้สึกดังกล่าวหรือไม่เพียงอย่างเดียว แต่มันต้องมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือแนวทางของท่าน(ยึดปฏิบัติสุนนะฮฺต่างๆ) พร้อมปกป้องศาสนา(ที่ท่านนบีได้นำมา) และต่อสู้พิทักษ์ปกป้องการทำลายของเหล่าศัตรู รวมไปถึงการสั่งใช้ในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และห้ามปรามในสิ่งที่เป็นบาป”[2] 

    และท่านนักปราชญ์ อัล-อัยนียฺ ได้กล่าวว่า “พึงทราบเถิดว่า การรักศาสนทูต g คือ การมุ่งมั่นในการที่จะปฏิบัติตามท่านและละทิ้งการขัดต่อท่าน ซึ่งมันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในอิสลาม”[3]

    เราจึงสามารถสรุปคำพูดของบรรดานักวิชาการที่ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับสัญลักษณ์แห่งการรักนบีผู้มีเกียรติ g ได้ดังนี้

    1. ปรารถนาที่จะพบเห็นท่าน  และร่วมเป็นมิตรสหายกับท่าน ซึ่งมันมีค่ายิ่งกว่าการสูญเสียสิ่งอื่นใดบนโลกนี้

    2. พร้อมที่จะอุทิศชีพและทรัพย์สินเพื่อท่านนบี g

    3. น้อมรับและปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน พร้อมทั้งห่างไกลจากการสั่งห้ามของท่านนบี g  

    4. ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนแนวทาง(สุนนะฮฺ)ของท่าน พร้อมปกป้องบทบัญญัติต่างๆ ของศาสนาอิสลาม

                ใครก็ตามที่มีสัญลักษณ์แห่งการรักนบี g ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็สมควรที่เขาต้องสรรเสริญพระองค์อัลลอฮฺ ที่ทำให้เขาได้มีความรักต่อท่านนบี(ผู้มีเกียรติและผู้เป็นที่รัก g) และขอให้ยืนหยัดอย่างนี้สืบไป

    ส่วนผู้ใดที่ไม่มีเลยหรือพอมีบ้างเพียงบางส่วน  ก็ต้องรีบพิจารณาสอบสวนตัวเอง ก่อนที่จะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺซึ่งทรัพย์สมบัติและลูกหลานจะไม่อำนวยประโยชน์อะไรให้เขาได้เลย เว้นแต่ผู้มาหาอัลลอฮฺด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ผ่องใสเท่านั้น และไม่มีสิ่งเร้นลับใดๆ ที่ปกปิดสำหรับอัลลอฮฺ และอย่าพึงคิดหรือพยายามที่จะหลอกลวงอัลลอฮฺและบรรดาผู้ศรัทธาเป็นอันขาด!? แท้ที่จริงแล้ว ผู้ที่กระทำเช่นนั้น หารู้ไม่ว่าเขากำลังหลอกลวงตัวเองต่างหาก

    ﴿يُخَادِعُونَ اللهَ وَالَّذِينَ آمَنُوا وَمَا يَخْدَعُونَ إِلاَّ أَنفُسَهُمْ وَمَا يَشْعُرُونَ﴾ (البقرة : 9 )

    ٰความว่า “พวกเขา พยายามที่จะหลอกลวงอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ศรัทธา แต่พวกเขาไม่ได้หลอกลวงใคร นอกจากพวกเขาเอง และพวกเขาหาได้ตระหนักไม่“ (อัล-บะเกาะเราะฮฺ  9)

    และด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงสัญลักษณ์ต่างๆ เหล่านั้นโดยอธิบายผ่านตัวอย่างความรักของบรรดาเศาะหาบะฮฺ(สาวก)ของท่านที่มีต่อท่านนบี g พร้อมๆ กับเปรียบเทียบสภาพความเป็นจริงของเราในยุคปัจจุบัน เผื่ออัลลอฮฺจะได้ทรงปรับปรุงและชี้ทางนำแก่พวกเราด้วย ในการนี้ข้าพเจ้าจะแยกกล่าวถึงทุกๆ สัญลักษณ์ไว้เป็นบทๆ เป็นการเฉพาะ อินชาอัลลอฮฺ (ด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺ)


    บทที่หนึ่ง

    สัญลักษณ์ประการแรก

    ปรารถนาที่จะพบเห็นท่านนบี g และร่วมเป็นมิตรสหายเคียงข้างท่าน ซึ่งการสูญเสียสองสิ่งดังกล่าวนั้นสำคัญยิ่งกว่าการสูญเสียสิ่งอื่นใดบนโลกนี้

    เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าความปรารถนาอันสูงสุดระหว่างคู่รักกันคือการที่ได้พบเจอกันและได้อยู่ใกล้ชิดกัน เช่นเดียวกับผู้ที่รักท่านนบี g ย่อมมีความรู้สึกปรารถนาที่จะพบเห็นท่าน และร่วมเป็นมิตรสหายกับท่านบนโลกนี้และโลกหน้า รอคอยวันแห่งความสุขนั้นจะมาถึงอย่างใจจดใจจ่อเป็นที่สุด จนไม่อาจแลกด้วยความสุขทั้งหมดที่มีอยู่บนโลกนี้ได้เลย เขาจะรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มองไปยังใบหน้าอันส่องประกายของท่านนบี g ปลื้มใจที่สุดหากได้ร่วมเดินทางเป็นมิตรสหายกับท่าน  และเศร้าโศกเสียใจกลัวว่าจะถูกกีดกั้นจากการได้พบและเคียงข้างท่านจนจำต้องร้องไห้เมื่อเสียท่านไป

    ลำดับต่อไปเป็นการนำเสนอตัวอย่างสำคัญๆ บางส่วนของบรรดาผู้ที่รักท่านนบี g เพื่อเป็นการยืนยันสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

    1. การร้องไห้เพราะความดีใจเป็นที่สุดของท่านอบู บักรฺ อัศ-ศิดดีก  เมื่อทราบว่าได้มีโอกาสเป็นสหายในการร่วมอพยพพร้อมๆ กับท่านนบี g ไปยังมะดีนะฮฺ

    ได้มีรายงานโดยอิมาม อัล-บุคอรียฺ จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ซึ่งเป็นภรรยาท่านนบี g นางได้กล่าวว่า : วันหนึ่งระหว่างที่เรากำลังพักอยู่[4] ที่บ้านของท่านอบู บักรฺในช่วงเวลาเริ่มต้นของเที่ยงวัน จู่ๆ ก็ได้มีเสียงเรียกอบูบักรฺว่า นั่นท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺนี่ ท่านคลุมศรีษะปิดใบหน้ามาหาเรา ในช่วงเวลาผิดปกติ ซึ่งท่านนบี g ไม่เคยมาเยี่ยมในช่วงเวลานี้มาก่อนเลย ท่านอบูบักรฺ เห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า ขออุทิศชีวิตบิดามารดาแก่ท่าน และขอสาบานด้วยอัลลอฮฺว่า ท่านนบีไม่ได้มาหาฉันในช่วงเวลานี้เว้นแต่ท่านย่อมมีเรื่องสำคัญอย่างแน่นอน

    ท่านหญิงอะอิชะฮฺได้กล่าวต่อไปว่า : เมื่อท่านนบี g ได้มาถึงแล้วก็ขออนุญาตเข้าบ้าน ท่านอบูบักรฺจึงได้เชื้อเชิญให้เข้า จากนั้นท่านนบี g ก็ได้สั่งอบูบักรฺว่า “จงให้ผู้ที่นั่งอยู่กับท่านออกไปก่อน” (เพื่อจะได้คุยกันเป็นส่วนตัว)

    ท่านอบูบักรฺก็ได้ตอบท่านไปว่า: ใช่คนอื่นที่ไหนล่ะครับ พวกเขาทั้งหมดล้วนเป็นครอบครัวของท่าน โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ

    ท่านนบี g จึงได้กล่าวว่า: “ฉันได้รับอนุญาตจากอัลลอฮฺให้ออกไปจากมักกะฮฺ(อพยพไปยังมะดีนะฮฺ)แล้ว”

    ท่านอบูบักรฺกล่าวตอบว่า : ให้ฉันได้เป็นมิตรสหายร่วมเดินทางกับท่านเถิด [5] โอ้ ผู้เป็นที่รักยิ่งมากกว่าบิดาของฉัน ?

    ท่านนบี  g จึงกล่าวว่า : “ได้”[6]

    แน่นอนว่า อบูบักรฺคงไม่ลืมว่า การเดินทางครั้งนี้ย่อมเต็มไปด้วยความเสี่ยงและอันตรายมากมาย แต่มันไม่สามารถส่งผลกระทบหรือหยุดยั้งความตั้งใจในการเป็นเพื่อนร่วมเดินทางกับท่านนบี g แม้แต่น้อย! ท่านอบูบักรฺได้ร้องไห้ด้วยความดีใจอย่างมีความสุขที่สุด ทันทีที่ได้รับอนุญาตจากท่านนบี g ให้ร่วมออกเดินทางฮิจญ์เราะฮฺไปมะดีนะฮฺด้วยกัน

    อัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัรฺ กล่าวว่า อิบนุ อิสหากได้ระบุเพิ่มในรายงานของท่านว่า ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้กล่าวว่า ฉันได้เห็นอบูบักรฺร้องไห้ ฉันไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมีคนร้องไห้เนื่องจากความดีใจด้วย[7]

    2. ความปิติยินดีของชาวอันศอรฺเมื่อท่านนบี g ได้อพยพมาหาพวกเขาถึงมะดีนะฮฺ

    ครั้นเมื่อชาวอันศอรฺได้ทราบถึงการอพยบของท่านนบี g มายังเมืองมะดีนะฮฺของพวกเขา ก็รู้สึกปิติยินดียิ่งในการต้อนรับท่าน

    ในตำราที่รายงานวจนะและชีวประวัติของท่านนบี g ได้มีบันทึกและถ่ายทอดความรู้สึกของพวกเขาไว้มากมาย ตัวอย่างเช่น

    มีรายงานโดยท่านอิมามอัล-บุคอรียฺ จากท่านอุรวะฮฺ บิน ซุเบรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เกี่ยวกับการรอคอยของชาวอันศอรฺที่เขต อัล-หัรเราะฮฺ นอกเมืองมะดีนะฮฺ ซึ่งในรายงานของท่านได้ระบุไว้ว่า “และเมื่อบรรดาผู้ศรัทธาที่มะดีนะฮฺได้ทราบถึงการอพยพของท่านนบี g ออกจากเมืองมักกะฮฺ พวกเขาจึงออกไปรอคอยอยู่ที่เขต อัล-หัรเราะฮฺ ตั้งแต่เช้าจนแสงแดดร้อนระอุจึงค่อยแยกย้ายกลับไปยังบ้านเรือนของตน – พวกเขาทำอย่างนี้ทุกๆ วัน – อยู่มาวันหนึ่ง พวกเขาได้รอคอยนานกว่าปกติแล้วจึงแยกย้ายกลับบ้าน จู่ๆ ได้มีชาวยิวคนหนึ่งได้ปีนขึ้นบนที่สูงเพื่อหาดูอะไรบางอย่างที่ตนต้องการ ทันใดนั้นก็ได้มองเห็นท่านนบี g พร้อมสหายของท่านใส้เสื้อผ้าขาวเด่นชัดมาแต่ไกล ท่ามกลางละอองความร้อนของทะเลทราย เขาจึงกลั้นไม่อยู่ที่จะร้องเสียงดังว่า : โอ้ชาวอาหรับ นั่นคือเจ้านายของพวกท่าน ที่พวกท่านรอคอย (เขาได้มาถึงแล้ว) !

    ชาวมุสลิมทั้งหลายก็ตื่นเต้นรีบวิ่งไปหาและต้อนรับท่านนบีถึงท่ามกลางทุ่งหัรเราะฮฺ แล้วท่านนบี g ก็ได้เดินทางเบี่ยงขวาเข้าสู่เมืองมะดีนะฮฺ และหยุดพำนักที่เผ่าของ อัมรฺ บิน เอาฟฺ [8]

                อัลลอฮุอักบัร!  ความปรารถนาของพวกเขาที่จะเจอท่านนบี g นั้นยิ่งใหญ่มาก ถึงขนาดที่ ได้อดทนนั่งรอคอยท่านนบี g อันเป็นที่รักของพวกเขาในทุกๆ เช้าที่ทุ่งหัรเราะฮฺจนแสงแดดร้อนระอุแล้วจึงได้แยกย้ายกลับบ้าน

    ในรายงานของท่านอิบนุ สะอัด ได้กล่าวว่า “เมื่อความร้อนของแสงแดดได้แผดเผา พวกเขาก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน”[9]

    และในรายงานของ อัล-หากิม กล่าวว่า “พวกเขาจะรอคอยท่านนบี g จนพวกเขารู้สึกระคายเคืองจากความร้อนระอุของแสงแดด”[10]

    ท่านอิมาม อัล-บุคอรียฺ -ได้กล่าวเพิ่มเติมอีก- เกี่ยวกับการต้อนรับท่านนบี g ของชาวอันศอรฺที่มะดีนะฮฺ โดยรายงานจากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า: เมื่อท่านนบีได้มาถึงและหยุดพักที่บริเวณข้างๆ เขต อัล-หัรเราะฮฺ ก็ได้แจ้งข่าวแก่ชาวอันศอรฺ พวกเขาจึงเข้าไปต้อนรับท่านนบี g และอบู บักรฺด้วยการกล่าวสลาม และได้บอกแก่ทั้งสองคนว่า “ท่านทั้งสองเชิญเข้ามาอย่างปลอดภัยและด้วยการรับใช้ของพวกเราแก่ท่านเถิด”  ท่านนบี g และอบูบักรฺได้ขี่พาหนะเข้ามะดีนะฮฺโดยการห้อมล้อมภายใต้การอารักขาของชาวอันศอรฺพร้อมๆ กับเสียงประกาศดังไปทั่วว่า : “ท่านนบีของอัลลอฮฺได้มาถึงแล้ว ท่านนบีของอัลลอฮฺได้มาถึงแล้ว !” ผู้คนก็ได้แห่มาพบท่าน พร้อมกล่าวซ้ำๆ กันว่า“ท่านนบีของอัลลอฮฺได้มาถึงแล้ว” ท่านนบีก็ได้เดินผ่านหมู่บ้านมาเรื่อยๆ จนในที่สุดได้มาหยุดที่บ้านของท่านอบู อัยยูบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ [11]

                ท่านอิมามอะหฺมัดได้รายงานจากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า  “จำนวนชาวอันศอรฺที่ได้ออกมาประชิดและต้อนรับท่านนบี g กับอบูบักรฺมีจำนวนประมาณห้าร้อยคนด้วยกัน พวกเขาได้กล่าวแสดงความยินดีด้วยคำว่า “ท่านทั้งสองเชิญผ่านเข้ามาอย่างปลอดภัยและด้วยการรับใช้เชื่อฟังของพวกเราเถิด”[12]

                และท่านอิมามอะหฺมัดได้นำเสนอภาพเหตุการณ์ในครั้งนี้โดยผ่านการบอกเล่าของอบูบักรฺ  เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า “เมื่อท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺได้เดินทางออกไปพร้อมๆ กับฉัน จนมาถึงเมืองมะดีนะฮฺแล้วนั้น ผู้คน(ชาวมะดีนะฮฺ)ก็เห่ออกมาดูกันเต็มท้องถนนและบนหลังคาบ้าน ด้วยเสียงร้องอย่างกระหึ่มกึกก้องของเด็กๆ และบรรดาทาสว่า  อัลลอฮุอักบัรฺ! ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ g ได้มาถึงแล้ว  ท่านนบีมุหัมมัด g ได้มาถึงแล้ว ...!! และพวกเขาก็แย่งกันระหว่างพวกเขาว่า จะให้ท่าน นบี g พักอยู่ที่บ้านใคร”[13]

                ท่านอะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เปิดใจเกี่ยวกับวันอันประเสริฐนั้นว่า : ฉันไม่เคยเห็นวันไหนเลยที่มีราศีประกายและประเสริฐยิ่งไปกว่าวันที่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ g และอบูบักรฺได้เดินทางเข้ามายังนครมะดีนะฮฺ[14]

                และท่านอัล-บัรรออ์ บิน อาซิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ก็ได้เล่าบอกถึงความรู้สึกปลื้มใจของชาวมะดีนะฮฺต่อการมาถึงของท่านนบี g ผู้เป็นที่รักของพวกเขาไว้ว่า “และฉันไม่เคยเห็นชาวมะดีนะฮฺดีใจเป็นที่สุดกับสิ่งอื่นใด มากไปกว่าการที่พวกเขาดีใจกับการมาถึงของท่านนบี g”[15]

    3. ชาวอันศอรฺเกรงกลัวว่าจะไม่มีโอกาสได้เคียงข้างกับท่านนบี g ผู้เป็นที่รักของพวกเขา

                เมื่อพระองค์อัลลอฮฺได้มอบเกียรติแด่ชาวอันศอรฺด้วยการให้พวกเขาเป็นมิตรสหายและได้อาศัยอยู่กับท่านนบี g ผู้เป็นที่รักของพวกเขา ซึ่งต่างก็แย่งกันที่จะได้ใกล้ชิดกับท่านนบี g เพราะเกรงกลัวว่าจะสูญเสียความโปรดปรานและเกียรติอันยิ่งใหญ่ดังกล่าวไป

    ดังเช่นมีรายงานในบันทึกของอิมามมุสลิมจากท่านอบี ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า : “เมื่อท่านนบี g ได้เข้าพิชิตมักกะฮฺ(สงครามเปิดมักกะฮฺปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 8)นั้น ท่านได้มอบให้ท่านอัซ-ซุเบรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ให้คุมทัพปีกหนึ่ง และได้มอบให้ท่านคอลิด g ได้คุมอีกปีกหนึ่ง และได้คำสั่งให้อบู อุบัยดะฮฺนำทหารศึก(ที่มีไม่มีโล่ป้องกันตัว)มารวมตัวกันเดินโดยใช้เส้นทางกึ่งกลางหุบเขา ท่านนบี g ได้เหลือบหันมามองเห็นฉัน (อบู ฮุร็อยเราฮฺ) แล้วเรียกขานฉันว่า : อบู ฮุร็อยเราะฮฺ !

    อบู ฮุร็อยเราะฮฺตอบว่า : ครับ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ !!

    ท่านนบี g : “ห้ามให้ใครเข้ามาพบฉันเด็ดขาด เว้นแต่เฉพาะชาวอันศอรฺเท่านั้น”  ท่านกล่าวต่อไปอีกว่า “จนกว่าพวกท่านจะได้มาพบฉันที่ภูเขา อัศ-เศาะฟา”

    อบู ฮุร็อยเราะฮฺ รายงานต่อไปว่า : เราได้เดินไปเรื่อยๆ (ด้วยความฮึกเหิมและเป็นที่เกรงขาม กระทั่งว่า)ใครที่จะสังหารผู้ใดก็สามารถทำได้เลยโดยที่ไม่มีใครกล้าที่จะเผชิญหน้ากับทัพของเราเลยแม้แต่คนเดียว จนกระทั่ง อบู ซุฟยานได้มาถึงแล้วกล่าวร้องเรียนแก่ท่านนบี g ว่า :  “โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ! ชาวกุร็อยชฺถูกล้างเผ่าพันธุ์จนสิ้นแล้ว ! หลังจากนี้จะไม่มีคำว่ากุร็อยชฺอีกต่อไปแล้ว !”

    ท่านนบี g จึงก็ได้กล่าวไปว่า : “ใครก็ตามแต่ที่เข้าไปหลบในบ้านของกุร็อยชฺก็จะได้รับความคุ้มครองและความปลอดภัย”

    ได้ยินดังนั้น ชาวอันศอรฺจึงได้กล่าวว่า : ชายผู้นี้(ท่านนบี g ) ได้กลับบ้านเกิดอย่างสมใจแล้ว  และได้เกิดความเอ็นดูแก่ญาติพี่น้องของตนเสียแล้ว

    อบู ฮุร็อยเราฮฺ ได้เล่าว่า : และแล้วก็มีวะหฺยูมายังท่านนบี g  หลังจากนั้น ท่านนบี g ก็ได้เรียกชาวอันศอรฺว่า “ชาวอันศอรฺทั้งหลายเอ๋ย !”

    บรรดาชาวอันศอรฺได้กล่าวว่า : โอ้ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ !! พวกเราพร้อมน้อมรับคำสั่งของท่านเสมอ

    ท่านนบี g :”พวกท่านได้กล่าวว่า ‘ชายผู้นั้น(ท่านนบี g ) ก็ได้กลับบ้านเกิดอย่างสมใจแล้ว’ ใช่หรือไม่ ?”

    ชาวอันศอรฺตอบว่า : ใช่ครับท่าน เป็นไปอย่างนั้นจริง !

    ท่านนบี g  : “ไม่จริงเลย !  แท้จริงฉันเป็นบ่าวและเป็นศาสนทูตของพระองค์อัลลอฮฺ  ฉันได้อพยพไปยังพระองค์อัลลอฮฺและยังพวกท่านแล้ว ชีวิตฉันจะตายหรือจะเป็นก็เคียงข้างพวกท่านเสมอตลอดไป”

    ชาวอันศอรฺจึงได้กรูเข้าหาท่านนบี g ด้วยน้ำตาที่ไหลริน ร้องไห้ด้วยความเสียใจที่สุดพร้อมกับกล่าวว่า “พวกเราไม่ได้พูดอย่างนั้นเว้นแต่เพราะความรักยิ่งในพระองค์อัลลอฮฺและต่อท่านนบีเท่านั้นเอง(คือพวกเขาหวั่นเกรงว่าท่านนบี g จะเปลี่ยนไปรักชาวมักกะฮฺแทนพวกเขา)

    ท่านนบี g : “แท้จริง พระองค์อัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ได้เชื่อในคำพูดของพวกท่าน และยอมรับเหตุผลอันเป็นข้ออ้างของพวกท่านแล้ว”[16]

    ท่านอิมาม อัน-นะวะวียฺ ได้กล่าวอธิบายหะดีษฺบทนี้ว่า “เมื่อชาวอันศอรฺได้สังเกตเห็นความอ่อนโยนเอ็นดูของท่านนบี g ที่มีต่อชาวมักกะฮฺ คือท่านมิได้สังหารพวกเขา(ทั้งๆ ที่อยู่ในสภาวะสงคราม) ชาวอันศอรฺก็เข้าใจว่าท่านบี g คงกลับมาถึงบ้านเกิด(เมืองมักกะฮฺ)ของท่าน และพักพิงที่นั่นเป็นการถาวร คงละทิ้งพวกเขาและเมืองมะดีนะฮฺเสียแล้ว ทำให้ชาวอันศอรฺเกิดลำบากใจอย่างมาก!  พระองค์อัลลอฮฺก็ประทานวะหฺยูลงมายังท่านนบี g เพื่อแจ้งข้อเท็จจริงแก่ชาวอันศอรฺ ท่านนบีg ก็ได้กล่าวว่า แท้จริง ฉันได้อพยพสู่อัลลอฮฺและสู่บ้านเมืองของพวกท่าน เพื่อจะอาศัยอยู่ที่นั่น ดังนั้นฉันจะไม่จากมันไป และฉันจะไม่ยกเลิกการอพยพของฉันที่เกิดขึ้นเพื่ออัลลอฮฺ ทว่าฉันจะอยู่กับพวกท่านตลอดไป อยู่ก็อยู่พร้อมกับพวกท่าน ตายก็ตายพร้อมกับพวกท่าน”

    เมื่อท่านได้พูดดังกล่าว ชาวอันศอรฺต่างก็ร่ำไห้และขอโทษด้วยความเสียใจ และได้กล่าวแก่ท่านว่า ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ พวกเราไม่ได้พูดเช่นนั้นขึ้นมา เว้นแต่เพราะว่าเราปรารถนาแรงกล้าที่จะอยู่กับท่านและใกล้ชิดท่านตลอดไปพร้อมกับพวกเรา เพื่อเราจะได้ประโยชน์จากท่าน และได้รับความสิริมงคลของท่าน และให้ท่านได้ชี้ทางเราสู่ทางที่เที่ยงตรง เช่นที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

    ﴿وَإِنَّكَ لَتَهْدِي إِلَى صِرَاطٍ مُّسْتَقِيمٍ﴾ (الشورى : 52)

    ความว่า “แท้จริง เจ้า(มุหัมมัด)ย่อมชี้ทางสู่เส้นทางอันเที่ยงธรรม” (อัช-ชูรอ 52)

    และนี่ก็คือความหมายของพวกเขาที่ได้พูดไปว่า “เราไม่ได้พูดสิ่งที่กล่าวออกไป เว้นแต่เพราะกลัวว่าท่านจะจากเราไป และจะให้คนอื่นมาแทนที่พวกเรา”

    เหตุที่พวกเขาร้องไห้ก็เพราะว่าดีใจกับสิ่งที่ท่านนบี g ได้พูดกับพวกเขา และละอายในสิ่งที่พวกเขากลัวว่าท่านจะได้รับฟังเรื่องที่น่าอายจากพวกเขา[17]

    4. เศาะหาบะฮฺกลัวว่าจะไม่สามารถพบเห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในสวนสวรรค์

                มีเศาะหาบะฮฺท่านอื่นอีกที่รักท่านนบี g อย่างสัจจริงที่ได้นึกถึงการเสียชีวิตของเขาและการเสียชีวิตของท่านนบี g ผู้เป็นที่รักและมีเกียรติของเขา ซึ่งเขากลัวว่าจะไม่สามารถเห็นใบหน้าอันมีเกียรติของท่านนบี g ในสวนสวรรค์ ถึงแม้ว่าเขาจะได้เข้าสวนสวรรค์เหมือนกันก็ตาม อันเนื่องจากความสูงส่งแห่งฐานะของท่านนบี g เพราะท่านนบีย่อมจะอยู่ร่วมกับบรรดานบีทั้งหลาย(ในชั้นอันสูงส่งของสวรรค์)

                อิมาม อัฏ-เฏาะบะรีย์ ได้รายงานเรื่องราวเศาะหาบะฮฺท่านนี้ให้กับเราผ่านคำพูดของอาอิชะฮฺ บินติ อัศ-ศิดดีก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า “มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี g แล้วกล่าวว่า โอ้ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ แท้จริงท่านเป็นที่รักยิ่งของฉันยิ่งกว่าชีวิตของฉันและบุตรของฉันเสียอีก แท้จริง ฉันอยู่ที่บ้านนึกถึงท่านจนอดทนไม่ไหว ก็เลยมาหาท่านเพื่อมองหน้าท่าน และเมื่อฉันนึกถึงการเสียชีวิตของฉันและการเสียชีวิตของท่าน ฉันรู้ว่าเมื่อท่านเข้าสวนสวรรค์ท่านจะถูกยกฐานะพร้อมกับบรรดานบี และฉันเมื่อเข้าสวนสววค์ฉันกลัวว่าจะไม่ได้พบเห็นท่านอีก” ท่านนบี g ไม่ตอบใดๆ จนกระทั่งญิบรีล อะลัยฮิสสลาม นำโองการ (วะหฺยู) ลงมาว่า

    ﴿وَمَن يُطِعِ اللّهَ وَالرَّسُولَ فَأُوْلَـئِكَ مَعَ الَّذِينَ أَنْعَمَ اللهُ عَلَيْهِم مِّنَ النَّبِيِّينَ وَالصِّدِّيقِينَ وَالشُّهَدَاء وَالصَّالِحِينَ وَحَسُنَ أُولَـئِكَ رَفِيقاً﴾ (النساء : 69)

    ความว่า “และผู้ใดที่เชื่อฟังอัลลอฮฺและเราะซูลแล้ว ชนเหล่านี้จะอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงกรุณาเมตตาแก่พวกเขา อันได้แก่บรรดานบี บรรดาผู้ที่เชื่อโดยดุษฏี(ศิดดีกีน) บรรดาผู้ที่เสียชีวิตในสงคราม และบรรดาผู้ที่ประพฤติดี และชนเหล่านี้แหละเป็นเพื่อนที่ดียิ่งแล้ว”[18]

    5. เราะบีอะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ขอเพื่อให้ได้เป็นมิตรสหายกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในสวนสวรรค์

                ผู้รักท่านนบี g อย่างสัจจริงอีกท่านได้มีโอกาสให้ขอจากท่านนบี g ท่านผู้นี้คือ เราะบีอะฮฺ บิน กะอับ อัล-อัสละมีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ แล้วอะไรเล่าคือ คำขอของเขา ?

                อิมามมุสลิมมีรายงานเรื่องราวของเขาให้กับเราผ่านคำพูดของเขาเอง เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ครั้งหนึ่งฉันได้ค้างคืนกับท่านนบี g แล้วฉันก็ช่วยท่านเตรียมน้ำเพื่ออาบน้ำละหมาดและสิ่งจำเป็นอื่นๆ แก่ท่าน ท่านนบี g ก็บอกกับฉันว่า “จงขอสิ (เจ้าอยากได้อะไร?) ฉันก็กล่าวว่า ฉันขอจากท่านเพื่อให้ได้เป็นมิตรสหายกับท่านในสวนสวรรค์ ท่านนบี g ถามอีกว่า “มีสิ่งอื่นอีกไหม?” ฉันตอบว่า เท่านั้นแหล่ะคือสิ่งที่ฉันอยากได้ ท่านนบี g ก็กล่าวว่า “ท่านเช่นนั้น เจ้าจงสนับสนุนฉันให้สามารถช่วยเหลือท่านได้ ด้วยการที่ท่านต้องสุญูดต่ออัลลอฮฺให้เยอะ”[19]

                เช่นนี้แหล่ะ คือคนที่รักท่านนบี g อย่างสัจจริง เมื่อมีโอกาสให้ขอก็ไม่ลังเลใจในการเลือกขอที่จะเป็นมิตรสหายกับท่านนบี g ทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ อีกทั้ง ไม่มีสิ่งอื่นในความคิดของเขาที่จะทดแทนการเป็นมิตรสหายกับท่านนบี g ได้อีกด้วย

    6. ชาวอันศอรฺเลือกเอาท่านเราะซูลุลลอฮฺ g แทนแพะ แกะ และอูฐ

                เรื่องนี้มิได้เจาะจงเฉพาะเราะบีอะฮฺ บิน กะอับ อัล-อัสละมีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เพียงคนเดียวเท่านั้นในการเลือกเอาท่านเราะสซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม  แต่มันเป็นเช่นนี้กับบรรดาผู้รักท่านนบี g อย่างสัจจริง ซึ่งในสงครามหุนัยนฺชาวอันศอรฺถูกให้เลือกระหว่างการเป็นมิตรสหายกับท่านนบี g กับการเลือกเอาแพะ แกะและอูฐ พวกเขาก็พอใจยินยอมให้ผู้คนนำเอาทรัพย์สินของโลกดุนยากลับสู่บ้านเรือนของพวกเขา และพวกเขา(ชาวอันศอร)ได้เลือกเอาท่านนบี g กลับสู่ภูมิลำเนาของพวกตน

                มีหนังสือสุนนะฮฺและประวัติศาตร์มากมายที่เล่าเรื่องนี้อย่างละเอียด ดังที่อิมามอัล-บุคอรีย์ ได้รายงานจากอับดุลลอฮฺ บิน ซัยดฺ บิน อาศิม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า เมื่อครั้งที่อัลลอฮฺให้ชัยชนะและทรัพย์สินที่ได้จากการทำสงครามแก่ท่านนบี g ในสงครามหุนัยนฺ ท่านก็แบ่งทรัพย์สินเหล่านั้นให้กับบรรดาผู้ที่เข้ารับอิสลามใหม่ๆ และไม่ได้แบ่งให้กับชาวอันศอรฺแต่อย่างใด ทำให้พวกเขารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่พวกเขาไม่ได้รับในสิ่งที่ผู้คนทั้งหลายต่างได้รับแบ่งกัน แล้วท่านนบี g ก็กล่าวปาฐกถาให้กับพวกเขาโดยกล่าวว่า “โอ้บรรดาชาวอันศอรฺ ฉันเคยเห็นพวกท่านอยู่ในความหลงผิด แล้วอัลลอฮฺก็ได้ทรงให้ทางนำแก่พวกท่านโดยผ่านฉัน มิใช่ดอกหรือ?  พวกท่านเคยแตกแยกกัน แล้วอัลลอฮฺก็ได้ทรงสร้างความเป็นพี่น้องระหว่างพวกท่านโดยผ่านฉัน มิใช่ดอกหรือ? และพวกท่านเคยตกทุกข์ได้ยาก แล้วอัลลอฮฺก็ทรงประทานให้กับพวกท่านซึ่งความมั่งมีสุขสบายอันมากมายโดยผ่านฉัน มิใช่ดอกหรือ?” ซึ่งทุกๆ ครั้งที่ท่านนบี g กล่าวประโยคหนึ่ง พวกเขาจะกล่าวตอบว่า “อัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์เป็นผู้มีเมตตากรุณายิ่งแล้ว”[20] ท่านนบี g กล่าวต่อไปว่า “หากพวกท่านประสงค์แน่นอนพวกท่านอาจจะกล่าวว่า ท่าน(หมายถึงนบี)มายังพวกเราในสภาพอย่างนั้นอย่างนี้”[21]  “พวกท่านยังไม่พอใจอีกหรือ ที่ผู้คนได้เลือกเอาแพะ แกะ และอูฐ หรือทรัพสินอื่นๆ กลับบ้านไป แล้วพวกเจ้าได้เลือกเอานบี g กลับสู่ภูมิลำเนาของพวกท่าน ? หากว่าไม่มีการอพยพเกิดขึ้น แน่นอนฉันจะเป็นคนหนึ่งที่อยู่ร่วมกับชาวอันศอรฺ และหากผู้คนเดินทางไปทางหนึ่ง แน่นอนฉันจะเดินไปตามทางชาวอันศอรฺ ชาวอันศอรฺเปรียบเสมือนเครื่องแต่งกายชั้นในแต่บุคคลอื่นเหมือนเครื่องแต่งกายชั้นนอก (หมายถึง ชาวอันศอรฺมีความใกล้ชิดกับท่านนบี g มากกว่า) และแท้จริง หลังจากฉันเสียชีวิตไปแล้ว พวกเจ้าจะได้พบเจอการเห็นแก่พวกพ้องในสิ่งที่เป็นของสาธารณะ ดังนั้น พวกเจ้าจงอดทนให้ดี จนกว่าพวกเจ้าจะได้พบฉันที่สระน้ำ(ในวันกิยามะฮฺ)[22]

                และในหะดีษฺของอบู สะอีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านนบี g กล่าวเพิ่มอีกว่า “โอ้พระองค์อัลลอฮฺ ทรงได้โปรดประทานความเมตตาแก่ชาวอันศอรฺและลูกหลานของพวกเขาด้วยเถิด”    จากนั้น พวกเขาต่างก็ร้องไห้น้ำตาไหลจนกระทั่งเคราเปียกปอน และกล่าวว่า พวกเราพอใจกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ g เป็นส่วนแบ่งของพวกเราแล้ว[23]

                อิมาม อิบนุล ก็อยยิม กล่าวว่า เมื่อครั้งที่เราะสูลุลลอฮฺ g ได้อธิบายถึงเหตุผลที่แฝงอยู่ในการที่ท่านได้ทำกับพวกเขา(ชาวอันศอรฺ)เช่นนั้น พวกเขาก็หันกลับด้วยความยอมจำนน และเห็นว่าทรัพย์สินที่ได้จากการทำสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ การที่ท่านนบี g ได้กลับไปอยู่ร่วมกับพวกเขา ทำให้พวกเขาหลงลืมแพะแกะ อูฐ และเชลยศึกที่เป็นผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากพวกเขาได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ และได้อยู่ใกล้ชิดกับท่านนบี g ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่และหลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้วด้วย[24]

    7. อุมัรฺ อัล-ฟารูก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ มีความปราถนาให้ฝังศพของท่านใกล้กับท่านนบี g

                เรายังเห็นผู้รักท่านนบี g อย่างสัจจริงอีกท่าน เขาผู้นั้นคือ อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ ขณะที่ท่านต้องจากโลกดุนยาที่ไม่ยั่งยืนไปสู่โลกอาคิเราะฮฺอันนิรันดร ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับท่านก็คืออยากให้ฝังศพท่านใกล้กับท่านนบีผู้เป็นที่รักอันมีเกียรติ g

                อิมาม อัล-บุคอรียฺ มีรายงานจากอัมรฺ บิน มัยมูน ว่า อุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ ได้กล่าวกับ (บุตรชายของท่าน) ว่า “โอ้ อับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ  เจ้าจงไปหาอาอิชะฮฺ มารดาแห่งผู้ศรัทธา เราะฎิยัลลอฮุอันฮา  แล้วบอกนางว่า อุมัรฺฝากสลามถึงเธอ และอย่าใช้สำนวน อะมีริลมุอ์มินีน เพราะวันนี้ฉันไม่ได้เป็นอะมีริลมุอ์มินีนอีกต่อไป และบอกนางว่า อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ จะขออนุญาตให้ฝังศพของเขาใกล้กับสหายของเขาทั้งสอง” (หลังจากนั้นอับดุลลอฮฺก็ไปหาท่านหญิงอาอิชะฮฺ) แล้วให้สลามขออนุญาตเข้าบ้านซึ่งเห็นนางกำลังนั่งร้องไห้ แล้วได้กล่าวแก่นางว่า “อุมัรฺฝากสลามถึงท่านหญิงด้วย และเขาขออนุญาตฝังศพของตัวเองใกล้กับสหายทั้งสองของเขา” ท่านหญิงอาอิชะฮฺกล่าวว่า “ตามจริงแล้ว ที่ตรงนั้นฉันเคยหวังที่จะให้เป็นที่ฝังศพของตัวฉันเอง ทว่า วันนี้ฉันขอเสียสละมันให้กับอุมัรฺ” และเมื่ออับดุลลอฮฺกลับมา มีคนกล่าวบอกกับท่านอุมัรฺว่า อับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺได้กลับมาแล้ว อุมัรฺก็กล่าวว่า “ยกฉันหน่อย” แล้วมีชายคนหนึ่งยกท่านขึ้นพิงกับตัวเขา แล้วท่านก็ถาม(อับดุลลอฮฺ)ว่า “เจ้ามีข่าวอะไรบ้าง ?” อับดุลลอฮฺตอบว่า “โอ้ อะมีริลมุอ์มินีน สิ่งที่ท่านปรารถนานั้น ท่านได้รับอนุญาตตามนั้นแล้ว” อุมัรฺจึงกล่าวว่า “อัลหัมดุลิลลอฮฺ ไม่มีสิ่งใดสำหรับฉันที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นอีกแล้ว (คือ จะได้ฝังใกล้กับท่านนบีและอบูบักรฺ) และเมื่อฉันเสียชีวิตพวกท่านก็จงหามฉันไป จากนั้นให้เจ้า(หมายถึงอับดุลลอฮฺบุตรของท่าน) ให้สลามแล้วกล่าวกับอาอิชะฮฺว่า อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบขออนุญาต (จะฝังศพของเขาใกล้กับสหายทั้งสองของเขา) หากนางอนุญาตพวกท่านก็เอาฉันเข้าไปข้างใน และหากนางปฏิเสธก็จงเอาฉันไปฝังที่สุสานพร้อมๆ กับบรรดามุสลิมอื่น”[25]

    8. อบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ร้องไห้ขณะที่ท่านรู้ว่าใกล้ถึงเวลาที่ท่านนบี g ต้องจากไป

                เราเห็นตัวอย่างของอบูบักรฺ อัศศิดดีก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ  ผู้รักท่านนบี g อย่างสัจจริง ซึ่งได้ฉุกคิดจากคำพูดของท่านนบี g ที่สะท้อนให้เห็นว่ากำหนดเวลาแห่งความตายของท่านนบีนั้นได้ใกล้เข้ามาแล้ว ท่านอบูบักรฺอดกลั้นตัวเองไม่อยู่ จึงร้องไห้หลั่งน้ำตาออกมา อิมามอัล-บุคอรีย์มีรายงานเรื่องราวของท่านจากอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ g ได้กล่าวปาฐกถาต่อหน้าผู้คนโดยกล่าวว่า “แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺได้ทรงให้บ่าวคนหนึ่งเลือกระหว่างโลกดุนยากับสิ่งที่อยู่ ณ พระองค์ แล้วบ่าวคนนั้นก็เลือกสิ่งที่อยู่ ณ พระองค์อัลลอฮฺ” แล้วอบูบักรฺก็ร้องไห้ พวกเราก็รู้สึกแปลกถึงการร้องไห้ของท่านขณะที่ท่านเราะสูลุลอฮฺ g เล่าเรื่องดังกล่าว และบ่าวที่ถูกให้เลือกในที่นี้ก็เป็นท่านเราะสูลุลลอฮฺ g นั่นเอง และอบูบักรฺก็เป็นผู้ที่รู้ได้ดีที่สุดในหมู่พวกเรา”[26]

                และในสายรายงานอื่นจากมุอาวิยะฮฺ บิน อบี สุฟยาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ไม่มีใครที่เข้าใจถึงคำพูดของท่านเราะสูลุลลอฮฺนอกเสียจากอบูบักรฺ แล้วท่านก็ร้องไห้และกล่าวว่า “ขอให้เราได้ซื้อตัวท่านนบี g ด้วยพ่อแม่และลูกหลานของเราเองเถิด”[27]

    9. อบูบักรฺ อัศ-ศิดดีก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ร้องไห้ขณะที่รำลึกถึงท่านนบี g หลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว

                เราเห็นอีกตัวอย่างหนึ่งของอบูบักรฺ อัศ-ศิดดีก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่ร้องไห้ขณะรำลึกถึงท่านนบี g ผู้เป็นที่รักหลัง จากที่ท่านได้กลับคืนสู่ความเมตตาของพระองค์อัลลอฮฺ ส่วนหนึ่งของหลักฐานที่บ่งบอกถึงเรื่องดังกล่าวก็คือ หะดีษฺที่อิมามอะหฺมัดได้รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ฉันได้ยินอบูบักรฺ อัศ-ศิดดีก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวบนมินบัรฺนี้ว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ g ในวันเยี่ยงเดียวกันกับวันนี้ของปีแรก แล้วท่านก็เกิดอาการสะอื้นไห้และหลั่งน้ำตา จากนั้นจึงได้กล่าวต่อไปอีกว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ g กล่าวว่า “พวกเจ้าจะไม่ได้รับสิ่งใดหลังจากอัล-อิศลาศ (ความบริสุทธิ์ใจ) ที่มีค่ามากไปกว่าการได้รับ อัล-อาฟิยะฮฺ (คือความปลอดภัยทั้งกายและใจ ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม) ดังนั้นก็จงขอมันจากอัลลอฮฺเถิด”[28]

    ในรายงานอื่นระบุว่า ท่านมีอาการจุกและสะอื้นเช่นนั้นสามครั้ง กว่าจะบอกหะดีษฺดังกล่าวได้[29]

    10. อบูบักรฺ อัศ-ศิดดีกมีความตั้งใจที่จะเสียชีวิตและได้พบกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ g อย่างเร็วที่สุด

                ส่วนหนึ่งจากหลักฐานที่บ่งบอกถึงเรื่องดังกล่าวคือ หะดีษที่อิมามอะหฺมัดได้รายงานจากอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา นางกล่าวว่า แท้จริง อบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เมื่อครั้งความตายได้มาเยือนท่าน ท่านกล่าวถามว่า “วันนี้เป็นวันอะไร?” ผู้คนรอบข้างตอบท่านว่า “วันนี้เป็นวันจันทร์” ท่านกล่าวต่อไปว่า “หากฉันเสียชีวิตในค่ำคืนนี้ก็จงอย่ารอให้ถึงพรุ่งนี้ (คือให้ฝังศพในค่ำคืนนั้นเลย) ซึ่งแท้จริงแล้ว วันเวลาและค่ำคืนที่เป็นที่รักยิ่งสำหรับฉัน คือวันเวลาและค่ำคืนที่ใกล้กับท่านเราะสูลุลลอฮฺ g มากที่สุด”[30]

                อัลลอฮุอักบัรฺ ! การที่จะรักวันเวลาหรือค่ำคืนนั้น จะให้รู้ว่ารักมากเท่าใดก็ให้ใช้เกณฑ์ว่ามันอยู่ใกล้กับท่านนบี g ผู้เป็นที่รักมากน้อยเพียงใดนั่นเอง

    เช่นนี้แหละ คือสภาพบรรดาผู้สัจจริงในความรักที่มีต่อท่านนบี g คิดถึงและปราถนาที่จะมองดูท่าน ต้องการและพยายามที่จะเป็นมิตรสหายกับท่าน มีความสุขเมื่อได้เห็นท่าน ร่าเริงเมื่อได้อยู่กับท่าน เลือกที่จะเป็นมิตรสหายกับท่านเหนืออื่นสิ่งใด กลัวการสูญเสียและร้องไห้หลั่งน้ำตาเมื่อท่านจากไป แล้วเราเล่าอยู่ ณ ส่วนไหนระหว่างพวกเขาเหล่านี้ ? ในขณะที่พวกเรากลับรักสิ่งอื่นมากกว่าและยอมเอาสิ่งเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนแทนที่ความรักที่มีต่อท่านนบี g มิใช่หรือ ? พวกเราหลายต่อหลายคน (ทั้งๆ ที่อ้างว่ารักท่านนบี g) ได้ทุ่มเทเงินทองและเวลาอันมีค่าเพื่อให้ได้เห็นและได้ยินสิ่งอื่นๆ (ผู้เขียนอาจจะหมายถึงการติดตามรายการต่างๆ ตามสื่อโทรทัศน์เป็นต้น) ในขณะเดียวกันก็กลับละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสิทธิของอัลลอฮฺและสิทธิของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพียงเพื่อให้ได้ติดตามสิ่งที่ตนเองชอบเหล่านั้น ต่างรู้สึกสุขใจเมื่อได้ดูสิ่งเหล่านั้นและรู้สึกโศกเศร้าเสียใจเมื่อต้องพลาดมันไปแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยลืมไปหรือทำเป็นลืมไปว่าส่วนหนึ่งที่พวกเขากำลังหลงใคร่อยู่นั้นจะกลายเป็นสาเหตุแห่งธรณีสูบ และจะทำให้ส่วนหนึ่งของผู้ที่หลงรักมันถูกสาปแช่งให้กลายเป็นฝูงลิงและหมู ดังที่ท่านนบี g ผู้ไม่เคยพูดตามอารมณ์ได้เคยบอกไว้ ในหะดีษฺที่อิมาม อิบนุ มาญะฮฺ รายงานจากอบู มาลิก อัล-อัชอะรีย์ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “แท้จริง มีมนุษย์กลุ่มหนึ่งจากประชาชาติของฉันที่ดื่มเหล้า โดยที่พวกเขาตั้งชื่อเหล้าเหล่านั้นด้วยชื่อที่ไม่ใช่ชื่อของมัน และเล่นดนตรีด้วยเครื่องดนตรีต่างๆ นานาชนิด แล้วอัลลอฮฺก็ทรงให้แผ่นดินสูบพวกเขาและทรงทำให้ส่วนหนึ่งของพวกกลายเป็นฝูงลิงและสุกร”[31]

                เมื่อพวกเราเป็นเช่นนั้นแล้ว คำพูดของเราที่ว่า “แท้จริงท่านนบี g เป็นที่รักของเราเหนือมนุษย์และสิ่งอื่นใดทั้งหมด” จะเป็นจริงได้อย่างไรเล่า ?  การกล่าวอ้างเช่นนั้นจะให้ประโยชน์กับเรา ณ อัลลอฮฺ ตะอาลา ผู้ชึ่งรู้ทั้งสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผยได้กระนั้นหรือ ?



    [1] บทอธิบายของ อัน-นะวะวีย์ ในเศาะฮีหฺ มุสลิม  1/16

    [2] ฟัตหุลบารี 1/59

    [3] อุมดะตุลกอรี 1/144

    [4] อุมดะตุล กอรี 45/17

    [5] ฟัตหุลบารี 7/235

    [6] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ กิตาบ มะนากิบุล อัน-ศอรฺ หมายเลขหะดีษฺ 3905 เล่มที่ 7 หน้า 231

    [7] ฟัตหุลบารี 7/235 ดูเพิ่มเติม สีเราะฮฺ อิบนิ ฮิชาม 2/93

    [8] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ  กิตาบ มะนากิบุล อันศอรฺ หมายเลขหะดีษฺ 3906 เล่มที่ 7 หน้า 239

    [9] อัฏ-เฏาะบะกอต อัล-กุบรอ 1/233

    [10] อัล-มุสตัดร็อก 3/11

    [11] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ  กิตาบ มะนากิบุล อันศอรฺ บรรพ ว่าด้วยการฮิจญ์เราะฮฺของท่านนบีฯ หมายเลขหะดีษฺ 3911 เล่มที่ 7 หน้า 250

    [12] อัล-ฟัตหฺ อัร-ร็อบบานียฺ ลิ ตัรตีบ มุสนัด อิมาม อะหฺมัด หมายเลข 155 เล่ม 20 หน้า 291, อัล-บุคอรียฺได้บันทึกใน อัต-ตารีคฺ อัศ-เศาะฆีรฺ ดู ฟัตหุล บารี 7/250 เชค อะหฺมัด อัล-บันนา กล่าวว่าสายสืบของอิมามอะหฺมัดเป็นรายงานที่เศาะฮีหฺ ดู บุลูฆฺ อัล-อะมานียฺ 20/292

    [13] อัส-มุสนัด หมายเลข 3 เล่ม 1 หน้า 155 เชค อะหฺมัด ชากิรฺ วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ ดู เชิงอรรถ อัล-มุสนัด 1/154

    [14] อัล-ฟัตหฺ อัร-ร็อบบานียฺ หมายเลข 152 เล่ม 20 หน้า 290

    [15] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ  กิตาบ มะนากิบุล อันศอรฺ บรรพ ว่าด้วยการมาถึงของท่านนบี g ยังเมืองมะดีนะฮฺ หมายเลขหะดีษฺ 3925 เล่มที่ 7 หน้า 260

    [16]  เศาะฮีหฺ มุสลิม กิตาบ อัล-ญิฮาด วะ อัส-สิยัรฺ บรรพ ฟัตหฺ มักกะฮฺ หมายเลข 1780 เล่ม 3 หน้า 1405

    [17] ชัรหฺ เศาะฮีหฺ มุสลิม ของ อัน-นะวะวีย์ 12/128-129

    [18] คัดจากหนังสือ มัจญ์มะอฺ อัซ-ซะวาอิด วะ มันบะอฺ อัล-ฟะวาอิด กิตาบ อัต-อัฟซีร เล่มที่ 7 หน้า 7 อัล-ฮัยษะมีย์ กล่าวว่า อัฏ-เฏาะบะรอนีย์ ได้รายงานใน อัล-เอาสัฎ สายสืบเป็นสายสืบที่เศาะฮีหฺเว้นแต่ อับดุลลอฮฺ บิน อิมรอน อัล-อาบิดีย์ ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าเชื่อถือ (เล่มเดียวกัน เล่มที่ 7 หน้า 7) และมีรายงานเช่นเดียวกันโดย อิบนุ มัรดะวัยฮฺ และ อบู นุอัยมฺ ใน อัล-หิลยะฮฺ และ อัฎ-ฎิยาอ์ อัล-มักดิซียฺ ใน ศิฟะตุล ญันนะฮฺ ซึ่งได้กล่าวว่า ฉันไม่เห็นว่าสายสืบนี้มีปัญหาแต่อย่างใด ดู เชิงอรรถ ซาด อัล-มะสีรฺ 2/126

    [19] เศาะฮีหฺ มุสลิม กิตาบ อัศ-เศาะลาฮฺ บรรพ ว่าด้วยการสุญูด หะดีษเลขที่ 489 เล่ม 1 หน้า 353

    [20]  ตามรายงานของอบู สะอีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ พวกเขากล่าวว่า เราจะตอบเยี่ยงใดแก่ท่านได้เล่า ? อัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์นั้นมีเมตตากรุณาแก่เรายิ่งแล้ว (จากฟัตหุล บารี 8/50)

    [21] ในรายงานของอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ  ที่บันทึกโดยอะหฺมัด มีว่า ท่านนบี g ได้กล่าวว่า “เหตุใดพวกท่านไม่กล่าวว่า ท่านมาหาเราในสภาพที่หวาดกลัว แล้วพวกเราก็ให้ความปลอดภัยแก่ท่าน มาในสภาพผู้ถูกเนรเทศ แล้วพวกเราก็ให้ที่พักพิงแก่ท่าน มาในสภาพผู้ยากไร้ แล้วพวกเราก็ช่วยเหลือท่านทำให้ท่านอุ่นใจ” บรรดาพวกอันศอรฺต่างก็ตอบว่า “เปล่าเลย ทว่าความกรุณาที่มีอยู่เหนือเรานั้น เป็นของอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์” (อ้างจาก ฟัตหุล บารี 8/51

    [22] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ กิตาบ อัล-มะฆอซี บรรพ สงคราฏออิฟ หะดีษเลขที่ 4330 เล่มที่ 8 หน้าที่ 47

    [23] คัดจากหนังสือ ฟัตหุล บารี เล่มที่ 8 หน้า 52

    [24] คัดจากหนังสือ ฟัตหุล บารี เล่มที่ 8 หน้า 49

    [25] เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ กิตาบ ฟะฎออิล อัศ-เศาะหาบะฮฺ หะดีษเลขที่ 3700 เล่ม 7 หน้า 60-61

    [26]เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ กิตาบ ฟะฎออิล อัศ-เศาะหาบะฮฺ หะดีษเลขที่ 3654 เล่ม 7 หน้า 12

    [27] ดูในหนังสือ มัจญ์มะอ์ อัซ-ซะวาอิด วะ มันบะอฺ อัล-ฟะวาอิด กิตาบ อัล-มะนากิบ เล่มที่ 9 หน้า 42 อัล-ฮัยษะมีย์ กล่าวว่า สายสืบหะสัน อ้างจากเล่มเดียวกัน หน้า 43

    [28] อัล-มุสนัด หะดีษเลขที่ 10 เล่ม 1 หน้า 158-159 เชคอะหฺมัด ชากิรฺ วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ เชิงอรรถมุสนัด เล่ม 1 หน้า 158

    [29] อัล-มุสนัด หะดีษเลขที่ 44 เล่ม 1 หน้า 173 เชคอะหฺมัด ชากิรฺ วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ เชิงอรรถมุสนัด เล่ม 1 หน้า 173

    [30] อัล-มุสนัด หะดีษเลขที่ 45 เล่ม 1 หน้า 173 เชคอะหฺมัด ชากิรฺ วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ เชิงอรรถมุสนัด เล่ม 1 หน้า 173

    [31]เศาะฮีหฺ สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ กิตาบ อัล-ฟิตัน บรรพ อัล-อุกูบาต หะดีษเลขที่ 3247 เล่ม 2 หน้า 371

    معلومات المادة باللغة الأصلية