×

الماتريدية (تايلندي)

الوصف

مقالة من كتاب الموسوعة الميسرة في الأديان والمذاهب والأحزاب المعاصرة: الماتريدية: فرقة كلامية ( بدعية )، تُنسب إلى أبي منصور الماتريدي، قامت على استخدام البراهين والدلائل العقلية والكلامية في محاججة خصومها، من المعتزلة والجهمية وغيرهم، لإثبات حقائق الدين والعقيدة الإسلامية. وفي هذه المقالة تعريف مختصر للماتريدية، ومؤسسها والعلماء المنتسبون لها وبعض عقائدها.

تنزيل الكتاب

    นิยามและความเชื่อกลุ่มแนวคิด อัล-มะตูริดียะฮฺ

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    สภายุวมุสลิมโลก WAMY

    แปลโดย : อันวา สะอุ

    ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือ อัล-เมาสูอะฮฺ อัล-มุยัสสะเราะฮฺ ฟี อัล-อัดยาน วะ อัล-มะซาฮิบ วะ อัล-อะห์ซาบ อัล-มุอาศิเราะฮฺ

    2011 - 1432

    ﴿ الماتريدية ﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الندوة العالمية للشباب الإسلامي

    ترجمة: أنور إسماعيل

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب الموسوعة الميسرة في الأديان والمذاهب والأحزاب المعاصرة

    2011 - 1432

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    อัล-มะตูริดียะฮฺ

    นิยาม

    อัล-มาตุรีดียะฮฺ คือ มุสลิมคณะหนึ่งที่นิยมอิลมุลกะลาม (วิชาวิภาษวิทยา) ซึ่งอุตริขึ้นมาในศาสนาอิสลาม สำนักคิดนี้ก่อตั้งโดยอบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ สำนักคิดนี้มีการใช้หลักฐานและหลักฐานของการโต้แย้งทางด้านปัญญาและวิภาษวิทยาในการตอบโต้แนวคิดของอัล-มุอฺตะซิละฮฺ , แนวคิดอัล-ญะฮฺมิยะฮฺ และแนวคิดอื่นๆ เพื่อพิสูจน์สัจธรรมและหลักการศรัทธาของศาสนาอิสลาม

    การกำเนิดของแนวคิดและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

    แนวคิดอัล-มาตุรีดิยะฮฺ ได้มีวิวัฒนาการหลายช่วระดับเฉกเช่นกลุ่มแนวคิดวิภาษวิทยากลุ่มอื่นๆ ซึ่งแต่เดิมนั้น “อัล-มาตุรีดียะฮฺ” ยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนมากนัก จนกระทั่งหลังการเสียชีวิตของผู้ก่อตั้ง ทำนองเดียวกับแนวคิดของอัล-อะชาอิเราะฮฺไม่เป็นที่รู้จักนอกจากหลังการเสียชีวิตของอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์ ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าแนวคิดกลุ่มนี้ได้ผ่านวิวัฒนาการมา 4 ยุคสมัย ดังนี้

    1. ยุคของการเริ่มต้น (ปี ฮ.ศ. 333) ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ที่การโต้เถียงอภิปรายปัญหาต่างๆกับกลุ่มอัล-มุอฺตะซิละฮฺ ซึ่งมีบุคคลที่โดดเด่นในยุคนี้คือ อบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ท่านมีชื่อเต็มว่า มุหัมมัด บิน มุหัมมัด บิน มะหฺมูด อัล-มาตุรีดีย์ อัส-สะมัรก็อนดีย์

    คำว่า “อัล-มาตุริดีย์” มาจากคำว่า “มาตุรีด” ซึ่งเป็นชื่อ หมู่บ้านหนึ่งใกล้กับเมืองสะมัรก็อนดฺ (Samarkand) ปัจจุบันอยู่ในประเทศอุซเบกิสถาน อบู มันศูรฺเกิดที่หมู่บ้านนี้และไม่ปรากฏวันเดือนปีเกิดของท่านอย่างชัดเจน และไม่มีการบันทึกชีวประวัติและเกร็ดชีวิตของท่านมากมายนัก แม้กระทั่งประวัติการศึกษาของท่านในวัยเยาว์และผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดก็ไม่มีการบันทึกหากมีการบันทึกก็มีจำนวนน้อยเท่านั้น เช่น ท่านนุศ็อยรฺ บิน ยะหฺยา อัล-บัลคีย์ เป็นต้น บ้างก็ว่าท่านชื่อ นัศรฺ ซึ่งอบู มันศูรฺ รับเอาฟิกฮฺในสายมัซฮับหะนะฟียฺและอิลมุลกะลามจากท่านผู้นี้

    อบู มันศูรฺได้รับฉายานามจากผู้เจริญรอยตามแนวคิดของท่านว่า “อิมาม อัล-มะฮฺดีย์” และ “อิมามอัล-มุตะกัลลิมีน” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนที่มีฐานะสูงส่งแค่ไหนในทัศนะของผู้ติดตามแนวคิดท่าน

    อับดุลลอฮฺ อัล-มุรออีย์ กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-ฟัตหฺ อัล-มุบีน ฟี เฏาะบะกอต อัล-อุศูลิยีน (1/193-194) ว่า “อบู มันศูรฺ เป็นผู้ที่มีความหนักแน่นเวลาโต้เถียง ท่านได้พิทักษ์ปกป้องหลักการเชื่อมั่นของชาวมุสลิม และโต้ตอบข้อคลุมเครือของพวกปฏิเสธพระเจ้า”

    ชัยคฺ อบู อัล-หะสัน อัน-นัดวีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ริญาล อัล-ฟิกรฺ วะ อัล-ดะอฺวะฮฺ” (หน้า 139) ว่า “อบูมันศูรฺ อัล-มาตุริดีย์ ท่านเป็นนักคิดที่สำคัญคนหนึ่ง ท่านมีคุณลักษณะพิเศษ คือเป็นอัจฉริยบุคคล มีความรู้ในวิชาด้านต่างๆ” จะเห็นได้ว่าชัยคฺ อบู อัล-หะสัน อัน-นัดวีย์ ได้ให้ความสำคัญแก่อบู มันศูรฺ อัล-มาตุริดีย์มากกว่าอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์เสียอีก ตามที่ปรากฏในหนังสือ ตารีค อัด-ดะอฺวะฮฺ วะ อัล-อะซีมะฮฺ (1/114-115)

    อบู มันศูรฺ อัล-มาตุริดีย์ มีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้เห็นหรือร่วมสมัยกับยุคความขัดแย้งระหว่างอะฮฺลุลหะดีษ กับอะฮฺลุลกะลามจากกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺและกลุ่มอื่นๆ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายมุอฺตะซิละฮฺ แต่ว่าท่านอาจมีแนวทางที่แตกต่างจากแนวทางของ อบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์ อยู่บ้าง แม้ว่าในหลายประเด็นทัศนะของท่านทั้งสองจะสอดคล้องกันก็ตาม แต่ในประวัติศาสตร์ไม่มีการบันทึกว่าบุคคลทั้งสองเคยพบเจอ หรือเคยติดต่อสื่อสารถึงกัน หรือเคยอ่านหนังสือของกันและกัน

    อบู มันศูรฺ อัล-มาตุริดีย์ เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 333 ร่างของท่านถูกฝัง ณ เมือง สะมัรก็อนดฺ ท่านมีผลงานทางวิชาการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลงานด้านวิชาฟิกฮฺ (ศาสนบัญญัติ) หรือวิชาตัฟสีรฺอัลกุรอาน(อรรถาธิบายอัลกุรอาน) เช่น หนังสือ ตะอ์วีลาต อะฮฺลิ อัส-สุนนะฮฺ หรือ ตะอ์วีลาต อัลกุรอาน หนังสือเล่มนี้ได้ทำการตะอ์วีล (ตีความ) โองการต่างๆ ในอัลกุรอาน ไม่ว่าจะเป็นโองการที่เกี่ยวข้องกับศิฟาต(คุณลักษณะ) ของอัลลอฮฺ ท่านได้ทำการตะอ์วีลเหมือนกับการตะอ์วีลของพวกอัล-ญะฮฺมิยะฮฺ

    หนังสือเกี่ยวกับวิภาษวิทยาของท่านมีชื่อว่า กิตาบ อัต-เตาฮีด ในหนังสือเล่มนี้ท่านได้ยอมรับทฤษฎีของพวกวิภาษวิทยา และได้ชี้แจงทัศนะของท่านเกี่ยวประเด็นปัญหาหลักที่เกี่ยวข้องกับหลักการเชื่อมั่น อัต-เตาฮีด ที่ผู้แต่งหมายถึงคือ เตาฮีด อัล-คอลิกิยะฮฺ , เตาฮีด อัร-รุบูบิยะฮฺ และบางส่วนจากเตาฮีด อัล-อัสมาอ์ วะ อัศ-ศิฟาต แต่ทว่าเป็นหลักการเชื่อมั่นตามแนวทางของอัล-ญะฮฺมิยะฮฺ ที่ปฏิเสธส่วนมากจากคุณลักษณะของอัลลอฮฺด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการให้เกิดความบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺและปฏิเสธการเสมอเหมือนระหว่างคุณลักษณะของอัลลอฮฺกับคุณลักษณะของสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง มีบางคนกล่าวว่าท่านได้แต่งหนังสืออธิบายหลักการเชื่อมั่นของอิมามอบู หะนีฟะฮ ชื่อหนังสือว่า ชัรหฺ กิตาบ อัล-ฟิกฮฺ อัล-อักบัรฺ นอกจากนี้ท่านได้แต่งหนังสือตอบโต้กลุ่มมุอฺตะซิละฮฺ , หนังสือตอบโต้กลุ่มอัร-รอฟิเฎาะฮฺ และหนังสือตอบโต้กลุ่มอัล-เกาะรอมิเฏาะฮฺ

    2. ยุคการก่อตั้ง (ฮ.ศ. 333 – 500) เป็นช่วงที่สานุศิษย์ของอัล-มาตุรีดีย์ และผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากท่านเริ่มเผยแพร่แนวคิดนี้ ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคที่กลุ่มวิภาษวิทยาถือกำเนิดขึ้นในเมืองสะมัรก็อนดฺเป็นครั้งแรก จากนั้นมีการเผยแพร่แนวคิดนี้อย่างแพร่หลาย ตลอดจนถึงการแต่งตำราเพื่อสนับสนุนปกป้องแนวคิดนี้ โดยยึดวิชาฟิกฮฺตามมัซฮับ หะนะฟีย์เป็นหลัก จึงทำให้แนวคิดอัล-มาตุรีดิยะฮฺได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้คนในเมืองนี้และเมืองอื่นๆ ที่ใกล้เคียงอย่างมาก ปราชญ์ที่มีความโดดเด่นในยุคนี้คือ อบู อัล-กอสิม อิสหาก บิน มุหัมมัด บิน อิสมาอีล อัล-หะกีม อัส-สะมัรก็อนดีย์ ฮ.ศ.342 ท่านมีปรัชญาคำสอนมากมาย และอีกท่านหนึ่งคือ อบู มุหัมมัด อับดุลกะรีม บิน มูซา บิน อีซา อัล-บัซดะวีย์ (ฮ.ศ. 390)

    จากนั้นเป็นการเริ่มเข้าสู่ยุคต่อไป ซึ่งเป็นยุคต่อเนื่องจากยุคที่ผ่านมา โดยมีปราชญ์ที่โดดเด่นดังนี้

    บุคคลสำคัญของแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ

    อบู อัล-ยุสรฺ อัล-บัซดะวีย์ ( ฮ.ศ. 421-493) ท่านมีชื่อเต็มว่า มุหัมมัด บิน มุหัมมัด บิน อัล-หุสัยนฺ บิน อับดุลกะรีม คำว่า อัล-บัซดะวีย์ มาจากคำว่า บัซดะวะฮฺ หรือ บัซดะฮฺ ท่านมีฉายานามว่า อัล-กอฎีย์ อัศ-ศ็อดรฺ ท่านเป็นปราชญ์คนหนึ่งในมัซฮับ หะนะฟีย์ รองจากพี่ชายของท่าน อะลีย์ อัล-บัซดะวีย์ ท่านเกิดเมื่อปี ฮ.ศ. 421

    ท่านได้ศึกษาความรู้จากบิดา ซึ่งรับการศึกษามาจากปู่ของท่าน ซึ่งเป็นศิษย์เอกของท่านอบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ท่านได้ศึกษาตำราปรัชญาต่าง เช่นตำราของอัล-กินดีย์ ศึกษาตำราของมุอฺตะซิละฮฺ เช่น ตำราของอัล-ญุบบาอีย์ , อัล-กะอฺบีย์ และ อัน-นัซซอม เป็นต้น ท่านได้กล่าวถึงตำราเหล่านั้นว่า ไม่อนุญาตให้ถือและอ่านตำราเหล่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเคลือบแคลงใจ และดูหมิ่นต่อหลักการศรัทธา แต่ท่านก็ไม่เห็นด้วยจะไปกล่าวคนที่ยึดถือตำราเหล่านั้นเป็นสิ่งอุตริกรรม นอกจากนี้ท่านได้ศึกษาตำราของอบู หะซัน อัล-อัชอะรีย์ อย่างล้ำลึก จนท่านกล่าวว่าอนุญาตให้อ่านตำราของอัล-อัชอะรีย์ได้หลังจากที่ผู้อ่านรู้ว่ามีประเด็นไหนบ้างที่บกพร่อง ท่านยังศึกษาตำราสองเล่มของอบู มันศูรฺ อัล-มะตุรีดีย์ คือ ตำรา อัต-ตะวีลาต และ อัต-เตาฮีด แล้วท่านพบว่าตำรา อัต-เตาฮีดนั้นมีเนื้อหาที่ยาว และการเรียบเรียงค่อนข้างยาก ดังนั้นท่านจึงได้ทำการเรียบเรียงใหม่เพื่อให้ตำรามีความง่ายขึ้น นอกจากนี้ท่านยังเพิ่มเติมประเด็นต่างๆ ไว้อีกด้วยในหนังสือที่ชื่อว่า อุศูลลุดดีน

    อบู อัล-ยุสรฺ อัล-บัซดะวีย์ มีลูกศิษย์มากมายที่มาเล่าเรียนหาความรู้จากท่าน เช่น บุตรชายของท่านเอง มีชื่อว่า อัล-กอฎีย์ อบู อัล-มะอานีย์ อะหฺมัด , นัจญ์มุดดีน อุมัรฺ บิน มุหัมมัด อัน-นะสะฟีย์ เจ้าของตำรา อัล-อะกออิด อัล-นะสะฟียะฮฺ และคนอื่นๆ อีกมากมาย อบู อัล-ยุสรฺ เสียชีวิต ณ เมืองบุคอรอ ในวันที่ 9 เดือน เราะญับ ปี ฮ.ศ. 493

    3. ยุคแห่งการแต่งตำราและวางรากฐานหลักการเชื่อมั่นของอัล-มาตุรีดียะฮฺ (ฮ.ศ. 500-700) ในยุคนี้มีความโดดเด่นเฉพาะคือมีการแต่งตำราตลอดจนรวบรวมหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับหลักการเชื่อมั่นตามแนวคิดของอัล-มาตุรีดียะฮฺ ด้วยเหตุนี้ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคที่ยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติของอัล-มาตุรีดียะฮฺ เนื่องจากมีการวางรากฐานของแนวคิดหรือหลักการศรัทธาของอัล-มาตุรีดียะฮฺ ในยุคนี้มีบุคคลที่โดดเด่นดังต่อไปนี้

    อบู อัล-มะอีน อัน-นะสะฟีย์ (ฮ.ศ. 438-508) ท่านมีชื่อเต็มว่า มัยมูน บิน มุหัมมัด บิน มุอฺตะมัด อัน-นะสะฟีย์ อัล-มักหูลีย์ คำว่า อัน-นะสะฟีย์ มาจากคำว่า นะสัฟ คือชื่อเมืองใหญ่เมืองหนึ่งตั้งอยู่ระหว่าง ญัยหูน และ สะมัรก็อนดฺ สำหรับ อัล-มักหูลีย์ มาจากชื่อปู่ของเขา แต่ส่วนมากจะรู้จักชื่อของท่านด้วยการพ่วงท้ายชื่อเมือง คือ อัน-นะสะฟีย์มากกว่า ท่านมีฉายานามมากมาย เช่น สัยฟุล หักก์ วัดดีน นับว่าท่านเป็นปราชญ์แห่งสำนักคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺที่โดดเด่นท่านหนึ่ง แต่ผู้ที่บันทึกชีวประวัติของท่านไม่ได้กล่าวถึงคณาจารย์ของท่านและการศึกษาหาความรู้ของท่านมากนัก ดร.ฟัตหุลลอฮฺ เคาะลีฟ กล่าวว่า นับว่าท่านอบู อัล-มะอีน อัล-นะสะฟีย์ เป็นผู้ที่รับใช้สำนักคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ เขาอยู่ในแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺเหมือนกับอัล-บากิลลานีย์ และเหมือนอัล-เฆาะซาลีย์ในแนวคิด อัล-อะชาอิเราะฮฺ ส่วนตำราที่สำคัญของท่านคือ ตับศิเราะฮฺ อัล-อะดิลละฮฺ ซึ่งเป็นหนังสืออ้างอิงที่สำคัญในการจะรู้จักแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ รองจากหนังสือ อัต-เตาฮีด ของอบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ และยังถือว่าเป็นหนังสืออ้างอิงที่เนื้อหากว้างขวางมากกว่าหนังสือเล่มอื่นๆ นอกจากนี้ท่านได้ย่อหนังสือเล่มนี้ลงในหนังสือของท่านแต่งเอง คือหนังสือ อัต-ตัมฮีด และท่านยังแต่งตำราชื่อว่า บะหฺรุลกะลาม ซึ่งเป็นหนังสือฉบับกระทัดรัดกล่าวถึงประเด็นต่างๆของอิลมุลกะลาม (วิภาษวิทยา) ท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 เดือนซุลหิจญะฮฺ ฮ.ศ. 508 ท่านมีสิริอายุรวม 70 ปี

    นัจญ์มุดดีน อุมัรฺ อัน-นะสะฟีย์ (ฮ.ศ. 462-537) ท่านมีชื่อเต็มว่า อบู หัฟศฺ นัจญ์มุดดีน อุมัรฺ บิน มุหัมมัด บิน อะหฺมัด บิน อิสมาอีล อัล-หะนะฟีย์ อัน-นะสะฟีย์ อัส-สะมัรก็อนดีย์ ท่านมีฉายานามมากมาย แต่ที่โดดเด่นคือ นัจญ์มุดดีน ท่านเกิดที่เมือง นะสัฟ ปี ฮ.ศ. 462 ท่านเป็นผู้ที่มีอาจารย์มากมายถึง 500 คน อาทิเช่น อบู อัล-ยุสรฺ อัล-บัซดะวีย์, อับดุลลอฮฺ บิน อะลีย์ บิน อีซา อัน-นะสะฟีย์ เป็นต้น ท่านมีลูกศิษย์ที่มาเล่าเรียนตักตวงความรู้จากท่านมากมายเช่นกัน นอกจากนี้ท่านได้แต่งตำรามากมาย ประมาณ 100 กว่าเล่ม เช่น หนังสือมุญัมมะอฺ อัล-อุลูม, หนังสืออัต-ตัยสีรฺ ฟี ตัฟสีรฺ อัลกุรอาน, หนังสืออัน-นะญาหฺ ฟี ชัรหฺ กิตาบ อัคบาร อัศ-ศิหาหฺ, หนังสืออัล-อะกออิด ซึ่งรู้จักกันในชื่อ อะกออิด อัน-นะสะฟียะฮฺ ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือแม่บทที่สำคัญเกี่ยวของกับหลักการเชื่อมั่นตามแนวทางของอัล-มาตุรีดิยะฮฺ เป็นหนังสือฉบับย่อจากหนังสือ ตับศิเราะฮฺ อัล-อะดิลละฮฺ ของอบู อัล-มะอีน อัน-นะสะฟีย์

    อัส-สัมอานีย์ ได้กล่าวยกย่องท่านว่า “ท่านเป็นผู้นำที่ทรงเกียรติ มีความปราดเปรื่อง ท่านได้แต่งตำรามากมายเกี่ยวกับตัฟสีรฺ และอัล-หะดีษ ...ครั้นเมื่อฉันได้มาเยือนเมืองสะมัรก็อนดฺ ฉันได้ยืมตำรางานเขียนของท่านหลายเล่มและพบว่ามีข้อคลุมเครือมากมายในหนังสือที่ท่านแต่งจนเลยขอบเขต ดังนั้น ฉันจึงรู้ว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบวิชาหะดีษ แต่ท่านไม่ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺให้เข้าใจในวิชานี้”

    ท่านเสียชีวิต ณ เมือง สะมัรก็อนดฺ คืนวันพฤหัสบดี วันที่ 12 เดือน ญุมาดัลเอาวัล ฮ.ศ. 537

    4. ยุคการเผยแพร่แนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ (ฮ.ศ.700-1300) ยุคนี้นับได้ว่าเป็นยุคที่สำคัญอีกยุคหนึ่งของแนวคิดอัล-มาตุรีดิยะฮฺ เนื่องจากแนวคิดนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ ทั้งนี้เพราะได้รับแรงหนุนจากบรรดาสุลต่านราชวงค์อุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน) จึงทำให้แนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺขจรขจายไปทั่วแคว้นในอาณาจักรออตโตมาน ทั้งเอเชียตะวันออก เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก ประเทศอาหรับ อินเดีย ตุรกี และโรม ในยุคนี้มีบุคคลที่โดดเด่น คือ อัล-กะมาล บิน อัล-ฮัมมาม ผู้แต่งหนังสือ อัล-มุสายะเราะฮฺ ฟี อัล-อะกออิด อัล-มันญุยะฮฺ ฟี อัล-อาคิเราะฮฺ ซึ่งเป็นหนังสือที่ใช้สอนอยู่ในบางมหาวิทยาลัยอิสลามในปัจจุบัน

    ในยุคนี้มีการแต่งตำรามากมายเกี่ยวกับวิชาวิภาษวิทยา ไม่ว่าจะเป็นมะตัน(ตัวบท) หรือหนังสืออธิบายตัวบทต่างๆ หนังสือที่มาเพิ่มเติมคำอธิบาย และเล่มที่อธิบายปลีกย่อยอีกมากมาย

    ปัจจุบันในชมพูทวีปยังมีหลายสำนักที่ยังคงเผยแพร่แนวคิดของอัล-มาตุรีดิยะฮฺ เช่นสำนักต่อไปนี้

    1. สำนักดิวบันด์ และอัน-นัดวียะฮฺ (ฮ.ศ. 1283) สำนักนี้ให้ความสำคัญกับการแต่งตำราหะดีษ และอธิบายหะดีษ สำนักดิวบันดิยะฮฺ คือผู้นำด้านวิชาการอัลกุรอาน อัล-หะดีษ และเหตุผลทางปัญญา นอกจากนั้นแล้วพวกเขาคือ นิยมแนวคิดศูฟีย์ ในหมู่พวกเขามีอุตริกรรมเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นลัทธิบูชากุบูรฺ (หลุมฝังศพ) ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีการกล่าวถึงในหนังสือของพวกเขาเอง “อัล-มุฮันนัด อะลา อัล-มุฟันนัด” แต่งโดย ชัยคฺ เคาะลีล อะหฺมัด อัส-สะฮารันฟูรีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำของสำนักนี้ และหนังสือนี้ถือว่าเป็นหนังสืออ้างอิงสำคัญด้านอะกีดะฮฺของสำนักดิวบันดิยะฮฺ และเช่นเดียวกัน สำนักอัน-นัดวิยะฮฺ ก็มีแนวคิดคล้ายคลึงกับดิวบันดิยะฮฺ ซึ่งยึดหลักตามอัล-มาตุรีดิยะฮฺ

    3. สำนักอัล-บัรเลวีย์ (ฮ.ศ. 1272) เป็นสำนักที่พาดพิงไปยังผู้นำของพวกเขา ที่ชื่อ อะหฺมัด ริฎอ ข่าน อัล-อัฟฆอนีย์ สังกัดมัซฮับ อัล-หะนะฟีย์ ด้านวิชาฟิกฮฺ และสังกัดอัล-มาตุรีดิยะฮฺด้านหลักศรัทธา เป็นศูฟีย์ ได้รับฉายานามว่า “อับดุลมุศเฏาะฟา-บ่าวของท่านนบี” (ฮ.ศ.1340) ในยุคนี้ปรากฏขึ้นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺอย่างชัดแจ้ง กลุ่มนี้จะต่อต้านแนวคิดของดิวบันดิยะฮฺอย่างมาก และกล่าวหาว่ากลุ่มดิวบันดิยะฮฺและอะฮลุซซุนนะฮฺเป็นพวกปฏิเสธศรัทธา

    3. สำนักอัล-เกาษะรีย์ (ฮ.ศ. 1296) เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งโดยชัยคฺมุหัมมัด ซาฮิด อัล-เกาษะรีย์ อัล-ญัรกะสีย์ สังกัดมัซฮับ อัล-หะนะฟีย์ ด้านวิชาฟิกฮฺ และสังกัดอัล-มาตุรีดิยะฮฺด้านหลักศรัทธา (ฮ.ศ. 1371) กลุ่มนี้จะกล่าวเท็จต่อนักปราชญ์มุสลิมหลายท่าน ตลอดจนถึงการสาปแช่งประณามปราชญ์มุสลิมอันทรงเกียรติ กลุ่มนี้ยังกล่าวหาพวกเขาเหล่านั้นว่าเป็นพวกมุญัสสิมะฮฺ และมุชับบิฮะฮฺ พวกเขาถือว่าหนังสือตำราต่างๆ ที่แต่งโดยปราชญ์ชาวสะลัฟ เช่น หนังสือ อัต-เตาฮีด หนังสืออัล-อิบานะฮฺ หนังสืออัช-ชะรีอะฮฺ หนังสืออัศ-ศิฟาต หนังสืออัล-อุลูว์ และหนังสืออื่นๆของชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺนั้นเป็นตำราเจว็ด ที่กล่าวว่าอัลลอฮฺมีรูปร่างเหมือนสิ่งที่ถูกสร้างและมีการเปรียบเทียบอัลลอฮฺกับมัคลูก ในกลุ่มนี้ยังปรากฏชัดการเชิญชวนสู่อุตริกรรม และการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ มีการเทิดทูนบูชาหลุมฝังศพ ภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นการ “ตะวัสสุล-นำเป็นสื่อกลาง” เรื่องเหล่านี้สามารถสังเกตได้จากคำอธิบายและความเห็นของอัล-เกาษะรีย์ที่ได้เขียนแสดงไว้ต่อหนังสือ อัล-อัสมาอ์ วะ อัศ-ศิฟาต ของอัล-บัยฮะกีย์ และในหนังสือ มะกอลาต ที่อัล-เกาษะรีย์แต่งขึ้นมาเอง

    แนวความคิดและหลักการเชื่อมั่นที่สำคัญของอัล-มาตุรีดียะฮฺ

    ที่มาของความรู้ศาสนาตามแนวคิดอัล-มาตุรีดิยะฮฺ แบ่งออกเป็นสองแหล่ง ดังต่อไปนี้

    1. อัล-อิลาฮียาต (หลักฐานทางปัญญา) คือ การที่ปัญญามีความเชื่อโดยเอกเทศ ส่วนหลักฐานต่างๆ นั้นตามมาภายหลัง ซึ่งรวมถึง ประเด็นต่างๆ ของอัต-เตาฮีดและคุณลักษณะของอัลลอฮฺ

    2. อัช-ชัรอียาต (หลักฐานทางตัวบท) คือ สิ่งที่ปัญญาจำเป็นต้องเชื่อตามไม่ว่าในทางยืนยันหรือปฏิเสธ ซึ่งปัญญาไม่สามารถเข้าถึงเรื่องเหล่านี้เองได้ เช่น อัน-นุบุวาต(การเป็นนบี-ศาสนทูต), การลงโทษในหลุมฝังศพ, และเรื่องราวในวันอาคิเราะฮฺ บางคนนั้นยังถือว่าเรื่อง อัน-นุบุวาต ก็เป็นเรื่องอักลิยาต (ปัญญา) ด้วยเช่นกัน

    ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าประการเหล่านี้ล้วนขัดแย้งกับแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ซึ่งยึดถือว่า อัลกุรอาน สุนนะฮฺ และคำพูดของเศาะหาบะฮฺ คือแหล่งที่มาหลักของศาสนา

    นอกจากนี้อุตริกรรมอีกประการของอัล-มาตุรีดิยะฮฺก็คือการจำแนกอุศูลุดดีน(หลักศาสนา) เป็น 2 ประเภท คือ อักลิยาตและสัมอิยาต ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักปรัชญา ที่เชื่อว่า หลักฐานของศาสนาขัดแย้งกับปัญญาของมนุษย์ ดังนั้น พวกเขาจึงพยามยามจะผสานระหว่างปัญญากับหลักฐานของศาสนา ถึงขั้นใช้ปัญญาในทางที่ไม่ควรที่จะหาคำตอบด้วยปัญญา จึงทำให้ได้กฎต่างๆ ที่โมฆะขัดแย้งกับบทบัญญัติของศาสนา จนบางครั้งพวกเขาต้องหันไปใช้วิธีการตะอ์วีล (ตีความให้ผิดแผกจากความหมายเดิม) บางครั้งใช้วิธีการตัฟวีฎ (ไม่แสดงความเห็นในเรื่องความหมาย) ในขณะที่อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ เชื่อว่า ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างปัญญาที่สมบูรณ์กับหลักฐานที่เศาะฮีหฺ (ถูกต้อง)

    จากการจำแนกหลักศาสนาข้างต้น จะเห็นว่าจุดยืนของพวกเขาต่อตัวบทหลักฐานศาสนาในประเด็นอัล-อิลาฮิยาต หรือ อัล-อักลิยาต มีดังนี้

    - หากเป็นหลักฐานจากอัลกุรอานหรือสุนนะฮฺที่มุตะวาติรฺ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เด็ดขาดแน่นอนและจำเป็นต้องรับรู้อย่างมั่นใจ (ก็อฏอีย์) ตามทัศนะของพวกเขา กล่าวคือ ปัญญาสามารถรับรู้ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งกับปัญญาของพวกเขาแต่อย่างใด ดังนั้นพวกเขาจึงนำหลักฐานนี้มายืนยันในหลักการเชื่อมั่นของพวกเขา หากหลักฐานนั้นเป็นหลักฐานที่เป็นเรื่องที่รับรู้อย่างซ็อนนีย์ (สงสัย) ซึ่งหมายถึง หลักฐานนั้นขัดแย้งกับปัญญาของพวกเขา ก็จะมีการตีความหลักฐานนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับเหตุผลทางปัญญา หรือพวกเขาจะตัฟวีฎ (มอบหมาย) ความหมายเหล่านั้นว่าอัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงรู้ถึงความหมายที่แท้จริง พวกเขามีความสับสนอย่างมากในประเด็นนี้ และไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนสำหรับพวกเขา บางคนให้ความสำคัญกับการตีความมากกว่าการมอบหมายความหมายแด่อัลลอฮฺ ในขณะที่บางคนให้ความสำคัญกับการมอบหมายความหมายมากกว่าการตีความ และบางคนถือว่าใช้ได้ทั้งสองกรณี นอกจากนี้บางคนเห็นว่าการตีความนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะกับบรรดาผู้รู้หรือปราชญ์เท่านั้น ส่วนการตัฟวีฎ-มอบหมายความหมายจะเหมาะสมกับผู้คนทั่วไป

    จะสังเกตเห็นว่า การตะอ์วีล (ตีความตัวบทให้มีความหมายเป็นอย่างอื่น) นั้นไม่เคยปรากฏในยุคของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือในยุคแรกเริ่มของอิสลาม แท้จริงการตะอ์วีล เป็นอุตริกรรมที่จากพวกยิวและคริสเตียน ที่เข้ามาครอบงำความคิดของพวกญะฮฺมียะฮฺ และมุอฺตะซิละฮฺ การตะอ์วีลนั้นส่งผลให้เกิดอุตริกรรมต่างๆ นานาในอิสลามจนถึงขั้นทำให้ประชาชาติอิสลามแตกแยกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนั้น การตะอ์วีลถือว่าอันตรายยิ่งกว่าการตะอฺฏีล (ปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮฺ) เพราะการตะอ์วีลนั้นจะส่งผลให้เกิดการตัชบีฮฺ (เปรียบเทียบคุณลักษณะของอัลลอฮฺกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง) การตะอฺฏีล และการกล่าวหาว่าท่านเราะสูลนั้นเป็นผู้ไม่มีความรู้ หรือปกปิดความรู้ที่อัลลอฮฺได้ประทานลงมา

    ทัศนะตัฟวีฎนั้นถือว่าเป็นทัศนะที่เลวร้ายที่สุดของพวกอุตริในศาสนา เนื่องจากการตัฟวีฎนั้นขัดแย้งกับหลักฐานที่เกี่ยวกับการใคร่ครวญในความหมายของอัลกุรอาน และเป็นทัศนะที่พยายามยัดเยียดว่าบรรดานบีหรือศาสนทูตเป็นผู้ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับอัลลอฮฺเลย

    ส่วนหะดีษประเภทอาหาด (หะดีษที่มีผู้รายงานจำนวนน้อยไม่ถึงขั้นมุตะวาติรฺ) พวกเขาถือว่า หะดีษนั้นให้ประโยชน์เฉพาะเฉพาะการรับรู้อย่างซ็อนนีย์ (สงสัยว่าเป็นหะดีษที่พาดพิงถึงท่านนบีหรือไม่) ไม่ได้ให้ประโยชน์เป็นความรู้ที่แน่นอนชัดเจน (ก็อฏอีย์) แต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่สามารถนำหะดีษประเภทนี้มาใช้ปฏิบัติได้ในศาสนบัญญัติตามหลักวิชาอูศูลุลฟิกฮฺ หรือหลักศาสนบัญญัติที่พวกเขาได้วางเกณฑ์ไว้ ส่วนในเรื่องหลักศรัทธาพวกเขาจะไม่นำหะดีษประเภทอาหาดมาอ้างอิงเด็ดขาด ถึงแม้ว่าจะมีเงื่อนไขครบถ้วนตามหลักวิชาฟิกฮฺแล้วก็ตาม ส่วนเมื่อหะดีษอาหาดไปขัดแย้งกับปัญญาของพวกเขา และไม่สามารถที่จะตีความความหมายของหะดีษนั้นเป็นอย่างอื่น พวกเขาจะตำหนิที่ผู้รายงานหะดีษว่าเป็นผู้หลงลืม หรือสับสน ทั้งๆ ที่ความหมายผิวเผินไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาประสงค์ นี่คือจุดยืนของพวกอัล-มาตุรีดียะฮฺทั้งในยุคก่อนและในยุคปัจจุบัน จนถึงขั้นที่ว่าอัล-เกาษะรีย์และพรรคพวกของเขาในสำนักอัด-ดิวบันดิยะฮฺ ตำหนิใส่ไคล้ตำราหะดีษของปวงปราชญ์หะดีษ รวมถึงตำราหะดีษของอัล-บุคอรีย์และมุสลิม ตลอดจนตำหนิหลักการเชื่อมั่นของผู้นำชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺ เช่น ท่านหัมมาด บิน สะละมะฮฺ ผู้รายงานหะดีษต่างๆ เกี่ยวกับคุณลักษณะของอัลลอฮฺ ท่านอิมามอัด-ดาริมีย์ เจ้าของตำราอัส-สุนัน ทั้งมวลนั้นเป็นทัศนะของพวกอุตริในศาสนา ซึ่งคิดขึ้นโดยพวกเกาะดะริยะฮฺ และมุอฺตะซิละฮฺ เนื่องจากหะดีษต่างๆ ได้ชี้ชัดว่าพวกเขานั้นมีจุดยืนขัดแย้งกับการกระทำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยสิ้นเชิง เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยส่งเศาะหาบะฮฺตัวคนเดียวเป็นทูตเพื่อไปเชิญชวนสู่อิสลาม ณ ต่างแดน อีกทั้งการแบ่งหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ออกเป็นหะดีษมุตะวาติรฺและหะดีษอาหาดนั้นไม่เป็นที่รู้จักในยุคของเศาะหาบะฮฺและอัต-ตาบิอีนแต่ประการใด

    - แนวคิดของพวกเขา ส่งผลให้มีกฎเกณฑ์ขึ้นมาว่าจำเป็นต้องรู้จักอัลลอฮฺด้วยปัญญาก่อนที่จะรู้จักอัลลอฮฺด้วยการรับฟังหลักฐานจากตัวบท พวกเขาถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอันดับแรกสำหรับผู้ที่บรรลุศาสนภาวะ และอัลลอฮฺทรงไม่ละเว้นการลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่รู้จักพระองค์ แม้ว่าเขาผู้นั้นจะอยู่ในยุคช่วงที่ไม่มีนบีหรือเราะสูล ทัศนะนี้สอดคล้องกับทัศนะของพวกมุอฺตะซิละฮฺ ซึ่งเป็นทัศนะที่โมฆะอย่างชัดเจน เนื่องจากขัดแย้งกับตัวบทหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺที่อธิบายว่าการรู้จักอัลลอฮฺนั้นจำเป็นด้วยปัญญาและตำหนิผู้ที่ไม่ยอมรู้จักอัลลอฮฺ แต่ว่าการลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ศรัทธานั้นจะไม่ลงโทษนอกจากจะมีศาสนามาถึงตัวเขาเสียก่อน ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَمَا كُنَّا مُعَذِّبِينَ حَتَّىٰ نَبۡعَثَ رَسُولٗا ١٥ ﴾ [الإسراء: ١٥]

    ความว่า “ และเรามิเคยลงโทษผู้ใด จนกว่าเราจะแต่งตั้งศาสนทูตมา” (อัล-อิสรออ์ : 15 )

    ที่ถูกต้องจริงๆ ก็คือ สิ่งแรกที่จำเป็นสำหรับผู้ที่บรรลุศาสนภาวะต้องปฏิบัติและถือว่าด้วยประการนี้แหละที่ทำให้เขาผู้นั้นเป็นมุสลิมได้ ก็คือการกล่าวปฏิญานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺและมุหัมมัดนั้นคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ ตลอดจนถึงการประกาศตัดขาดจากทุกศาสนาที่ขัดกับศาสนาอิสลาม เรื่องนี้ดังที่ท่านเราะสูลเคยส่งท่านมุอาซฺ บิน ญะบัล ไปยังประเทศยะมัน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มิได้สั่งให้มุอาซฺ กระทำสิ่งใดนอกจากเชิญชวนในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น เช่นเดียวกับบรรดานบีคนก่อนๆ พวกเขามิได้เชิญชวนประชาชาติของพวกเขาสู่อื่นใดนอกจากด้วยคำกล่าวที่ว่า

    ﴿ٱعۡبُدُواْ ٱللَّهَ مَا لَكُم مِّنۡ إِلَٰهٍ غَيۡرُهُۥٓ ﴾ [الأعراف: ٥٩]

    ความว่า “จงเคารพสักการะอัลลอฮฺเถิด ไม่มีพระเจ้าผู้คู่ควรแก่การเคารพสักการะใดๆ สำหรับพวกท่านอีกแล้วอื่นจากพระองค์” (อัล-อะอฺรอฟ :59)

    สำนักคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ มีทัศนะว่า ปัญญาของคนนั้นสามารถกำหนดว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีและสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่พวกเขามีความขัดแย้งในประเด็นกฎของอัลลอฮฺต่อปัญญาที่สามารถจำแนกระหว่างสิ่งที่ดีและสิ่งที่เลว โดยพวกเขาบางคนกล่าวว่า แท้จริงบ่าวจะถูกลงโทษตามการกระทำที่เลวทรามของเขาแม้ว่าไม่มีสาส์นหรือคำสอนของศาสนทูตมายังเขาก็ตาม ในที่ขณะที่บ้างคนมีความเห็นตรงข้ามกับทัศนะข้างต้น

    สำนักคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺมีทัศนะเช่นเดียวกับพวกวิภาษวิทยานิยมกลุ่มอื่นๆ คือ พวกเขาเชื่อว่า คำมะญาซฺ (คำอ้อม) นั้นมีอยู่จริงในภาษาอาหรับ ทั้งในอัลกุรอานและอัล-หะดีษ มะญาซฺ(คำอ้อม) ในที่นี้พวกเขาหมายถึง คำที่มีความหมายเป็นอย่างอื่นจากความหมายที่ถูกวางไว้หรือความหมายเดิม ในทัศนะของพวกเขาแล้วมะญาซฺนั้นเป็นประเภทเดียวกันกับคำพูดที่เป็นความจริง ดังนั้น พวกเขาจึงยึดถือมะญาซฺในการตีความหลักฐานต่างๆ ของศาสนาโดยอ้างว่าการตะอ์วีลนั้นสามารถป้องกันไม่ให้เข้าใจว่าอัลลอฮฺนั้นมีรูปร่างร่างกาย หรือเปรียบเทียบอัลลอฮฺกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง นี่เป็นทัศนะที่เข้าข่ายอุตริ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในด้านภาษาและศาสนบัญญัติ บรรดาปราชญ์ด้านภาษาอาหรับยุคก่อน เช่น อัล-เคาะลีล บิน อะหฺมัด หรือ สีบาวัยฮฺ ไม่เคยกล่าวเช่นนั้นเลย ซึ่งไม่นับรวมความเห็นของนักปราชญ์วิชาฟิกฮฺ หรืออุศูลุลฟิกฮฺ ต่างเห็นต่างกับแนวคิดเรื่องมะญาซฺ(ในความหมายที่พวกมาตุรีดียะฮฺหมายถึง)

    - ความหมายของอัต-เตาฮีด ตามทัศนะของอัล-มาตุรีดียะฮฺ คือ การยืนยันว่าอัลลอฮฺทรงเอกะใน ซาต(อาตมัน)ของพระองค์เอง ไม่มีสาขา หรือส่วนย่อยออกมาจากพระองค์ พระองค์ทรงเอกะในคุณลักษณะโดยไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน เอกะในการกระทำของพระองค์ ไม่มีผู้ใดมีภาคีในการสร้าง สรรพสิ่งต่างๆ ดังนั้นกลุ่มอัล-มาตุรีดียะฮฺพยายามอย่างสุดกำลังเพื่อยืนยันอัต-เตาฮีดประเภทนี้ ด้วยทัศนะที่ว่า อัลลอฮฺนั้น คือ ผู้ทรงอานุภาพในการสร้าง โดยนำหลักฐานต่างๆ มาอ้างอิงไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางปัญญา ตรรกะวิทยาที่มาจากพวกมุอฺตะซิละฮฺและญะฮฺมิยะฮฺ เช่น เหตุผลการเกิดขึ้นของวัตถุและสสาร อันเป็นหลักฐานที่ปราชญ์ชาวสะลัฟวิพากษ์ และได้ชี้แจงโต้ตอบพวกเขาว่า หลักฐานการมีอยู่ของอัลลอฮฺจากอัลกุรอานนั้นชัดเจนและถูกต้องกว่า ในประเด็นนี้อบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์ได้ชี้แจงในหนังสือของท่าน “ริสาละฮฺ อิลา อะฮฺลิ อัษ-ษะฆ็อรฺ” อิบนุ รุชดฺในหนังสือ “มะนาฮิจญ์ อัล-อะดิลละฮฺ” และชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ ในหนังสือ “ดัรอุ ตะอารุฎ อัล-อักลฺ วันนักลฺ” และอีกประเด็นหนึ่งที่อัล-มาตุรีดิยะฮฺมีทัศนะขัดแย้งกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ คือ พวกเขาได้จัดประเภทอัต-เตาฮีด อัร-รุบูบิยะฮฺ อยู่ในประเภทเดียวกับอัต-เตาฮีด อัล-อุลูฮิยะฮฺ ดังนั้น คำว่า อิลาฮฺ (พระผู้เป็นเจ้า) ตามทัศนะของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ คือ พระผู้ทรงควรเคารพสักการะเพียงองค์เดียวเท่านั้นไม่มีการตั้งภาคีใดๆ กับพระองค์ และการที่พระองค์ส่งศาสนทูตมายังมนุษยชาตินั้นก็เพื่อยืนยันในความเป็นพระเจ้าของพระองค์ และเชิญชวนมวลมนุษยชาติสู่การให้เอกภาพแด่อัลลอฮฺทั้งในด้านอัร-รุบูบิยะฮฺ ด้านอัล-อุลูฮิยะฮฺ และด้านพระนาม/คุณลักษณะของพระองค์

    อัล-มาตุรีดิยะฮฺยืนยันว่าอัลลอฮฺ ตะอาลา นั้นทรงมีพระนามอันวิจิตร พวกเขากล่าวว่า ไม่มีการเรียกพระนามของอัลลอฮฺนอกจากพระนามที่พระองค์ทรงเรียกขานพระองค์เองในอัลกุรอานหรือสุนนะฮฺ เท่านั้น ซึ่งในประเด็นนี้อัล-มาตุรีดียะฮฺมีความเห็นพ้องกับทัศนะของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาได้ตั้งพระนามแด่อัลลอฮฺขึ้นมาเอง เช่น อัศ-ศอนิอฺ อัล-เกาะดีม และอัซ-ซาต เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขามิได้จำแนกระหว่างการบอกเล่าเกี่ยวกับอัลลอฮฺกับการตั้งพระนามให้แด่พระองค์

    อัล-มาตุรีดียะฮฺยืนยันคุณลักษณะของอัลลอฮฺเพียง 8 คุณลักษณะเท่านั้น คือ อัล-หะยาฮฺ(ทรงมีชีวิต), อัล-กุดเราะฮฺ (ทรงเดชานุภาพ), อัล-อิลมฺ (ทรงรอบรู้), อัล-อิรอดะฮฺ (ทรงเจตนา), อัส-สัมอฺ (ทรงได้ยิน), อัล-บะศ็อรฺ(ทรงมองเห็น) , อัล-กะลาม (ทรงพูด), อัต-ตักวีน (ทรงสร้าง) และการกระทำของพระองค์ทุกอย่างนั้นอยู่ในประเภทคุณลักษณะอัต-ตักวีน ส่วนคุณลักษณะอื่นๆ ที่ระบุในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ นั้นคือ ศิฟาต เคาะบะริยะฮฺ (คุณลักษณะของอัลลอฮฺที่ไม่สามารถรู้ได้เองด้วยสติปัญญา แต่รู้ได้ด้วยบทบัญญัติ) และศิฟาต ซาติยะฮฺ(คุณลักษณะที่ผูกพันกับอาตมัน) หรือ ศิฟาต ฟิอฺลิยะฮฺ(คุณลักษณะที่ผูกพันกับการกระทำ)นั้นไม่อยู่ในกรอบของปัญญาที่จะรับรู้ได้ ดังนั้น พวกเขาจึงปฏิเสธคุณลักษณะดังกล่าว ส่วนอะฮฺลุซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ยึดถือในประเด็นของพระนามของอัลลอฮฺ เฉกเช่นเดียวกับการยึดถือในประเด็นของคุณลักษณะของพระองค์ ทั้งนี้ เนื่องจากทั้งสองประการนี้มาจากอัลลอฮฺและเราะสูล จำเป็นต้องเชื่อมั่นและยืนยันตาม โดยไม่มีการเปรียบเทียบกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง อีกทั้งไม่มีการปฏิเสธพระนามหรือคุณลักษณะใดๆ ของพระองค์ พร้อมกับมอบหมายในเรื่องกัยฟียะฮฺ (ลักษณะเป็นอย่างไร) และยืนยันความหมายที่เหมาะสมกับฐานะของพระองค์ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﴿لَيۡسَ كَمِثۡلِهِۦ شَيۡءٞۖ وَهُوَ ٱلسَّمِيعُ ٱلۡبَصِيرُ ١١ ﴾ [الشورى: ١١]

    ความว่า “ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ และพระองค์คือ ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น” (อัช-ชูรอ : 11)

    อัล-มาตุรีดียะฮฺ กล่าวว่า อัลกุรอานนั้นไม่ใช่ถ้อยคำของอัลลอฮฺอย่างแท้จริง แต่เป็นกะลาม นัฟสีย์ (ถ้อยคำที่ไม่มีเสียง) ซึ่งไม่สามารถได้ยิน ส่วนที่เสียงเราได้ยินนั้นเป็นแค่สัญลักษณ์ ดังนั้น คัมภีร์อัลกุรอานนั้นถือเป็นมัคลูก (สรรพสิ่งที่ถูกสร้าง) ซึ่งเป็นทัศนะของพวกอุตริกรรมในศาสนาโดยปราศจากหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺมายืนยัน อีกทั้งไม่มีคำกล่าวของกัลยาณชนรุ่นแรกมาสนับสนุน คนแรกที่กล่าวเช่นนี้ คือ อิบนุ กุ๊ลลาบ แท้จริงแล้วอัลลอฮฺ ตะอาลานั้นสามารถตรัสเมื่อใดก็ได้ หรือตรัสสิ่งใดก็ได้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ดังที่พระองค์ทรงพูดกับนบีมูซา อะลัยฮิสะลาม หรือ ทรงพูดกับบ่าวของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ ดังนั้น อัลกุรอานคือพจนารถของอัลลอฮฺ อย่างแท้จริงไม่ใช่สรรพสิ่งที่ถูกสร้างแต่อย่างใด เช่นเดียวกับคัมภีร์ อัต-เตารอฮฺ คัมภีร์ อัล-อินญีล และคัมภีร์ อัซ-ซะบูรฺ นี่คือหลักการเชื่อมั่นของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ จากกัลยานชนรุ่นแรกของประชาติอิสลามและผู้เจริญรอยตาม

    อัล-มาตุรีดิยะฮฺ กล่าวว่า อีมาน (การศรัทธา) คือ การเชื่อมั่นด้วยจิตใจเท่านั้น บางคนได้เพิ่มว่า การยอมรับด้วยวาจา พวกเขาเชื่อว่าอีมานนั้นไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลง และห้ามการอิสติษนาอ์ในการปฏิญาณเรื่องอีมาน (คือการตั้งเงื่อนไขในการศรัทธาโดยกล่าวว่า “ฉันเป็นผู้ศรัทธา อินชาอัลลอฮฺ”) พวกเขาถือว่าอิสลามและอีมานคือสิ่งเดียวกัน ไม่มีข้อแตกต่างระหว่างทั้งสองสิ่งนี้ ซึ่งทัศนะนี้สอดคล้องกับแนวคิดของพวกมุรญิอะฮฺ แต่ขัดแย้งกับจุดยืนของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ที่ยึดถือว่า อีมาน คือ การศรัทธาด้วยจิตใจ การยอมรับด้วยวาจาและการปฏิบัติด้วยกาย อีมานนั้นมีการเพิ่มขึ้นด้วยการภักดีต่ออัลลอฮฺและมีการลดลงเมื่อมีการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ และอนุญาตให้กล่าวคำอิสติษนาอ์ ในการศรัทธา(ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้มีการรับรองตนเอง) และเชื่อว่า อีมานและอิสลามเป็นสิ่งคู่กัน เมื่อกล่าวถึงอีมานและอิสลามในที่เดียวกันจะมีความหมายที่ต่างกัน แต่เมื่อกล่าวถึงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะหมายถึงทั้งสองอย่าง

    อัล-มาตุรีดิยะฮฺ มีทัศนะเห็นพ้องกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ในเรื่องศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับ เช่น เรื่อง เหตุการณ์ในโลกแห่งบัรฺซัค (สุสาน) สถานการณ์ในวันกิยามะฮฺ การชุมนุม ณ ทุ่งมะห์ชัรฺ การฟื้นคืนชีพ ตราชูชั่งความดีความชั่ว สะพานอัศ-ศิรอฏ การชะฟาอะฮฺ (ไถ่ถอนโทษ) สวรรค์ และนรก เนื่องจากพวกเขาถือว่าหลักฐานของศาสนานั้นมาจากการฟัง และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ที่จะเกิดขึ้นจริงตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกกล่าวไว้ อีกทั้งยังมีหลักฐานยืนยันจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ

    อัล-มาตุรีดิยะฮฺมีทัศนะว่าบ่าวสามารถมองเห็นพระผู้เป็นเจ้าในโลกอาคิเราะฮฺ แต่ทว่าพวกเขาปฏิเสธทิศทางและการเผชิญหน้า ซึ่งทัศนะนี้มีความขัดแย้งกันเอง เนื่องจากพวกเขายืนยันศรัทธาในสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งเป็นทัศนะที่ขัดแย้งกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ

    อัล-มาตุรีดิยะฮฺมีความเห็นพ้องกับทัศนะของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ ในประเด็นเศาะหาบะฮฺ กับลำดับการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ และเชื่อว่าข้อพิพาทระหว่างเศาะหาบะฮฺด้วยกันนั้นถือว่าเป็นการวินิจฉัยของแต่ละคน ดังนั้นจำเป็นต้องหยุดการกล่าวหาละเมิดจาบจ้วงบรรดาเศาหาบะฮฺ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการปฏิเสธศรัทธา หรืออุตริกรรมหรือเป็นพฤติกรรมที่ชั่วช้า อัล-มาตุรีดิยะฮฺมีทัศนะว่า ตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺนั้นเหมาะควรเฉพาะชนตระกูลกุร็อยชฺเท่านั้น และอนุญาตให้ละหมาดตามหลังมุสลิมทุกคนไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นคนดีหรือคนเลว และไม่อนุญาตให้ทรยศหรือเป็นกบฏต่อผู้นำที่มีพฤติกรรมชั่ว

    อัล-มาตุรีดียะฮฺมีทัศนะพ้องกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ในประเด็นเรื่องอัล-เกาะดัรฺ อัล-กุดเราะฮฺ และอัล-อิสติฏออะฮฺ โดยเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ล้วนแล้วมาจากประสงค์ของอัลลอฮฺ และการกระทำของมนุษย์ทั้งที่ดีและชั่วนั้นคือสิ่งที่อัลลอฮฺได้สร้างมา แต่มนุษย์นั้นมีสิทธิเลือกที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยจะได้รับผลตอบแทนที่ดีและชั่วในสิ่งที่ตนได้กระทำ และบ่าวนั้นมีสิทธิเลือกปฏิบัติในคำสอนของศาสนาโดยไม่มีการบังคับให้กระทำแต่อย่างใด

    อัล-มาตุรีดิยะฮฺ เห็นว่าไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีความสามารถปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนาบัญญัติ ซึ่งเป็นทัศนะที่พ้องกับแนวคิดมุอฺตะซิละฮฺ ส่วนอะฮลุซซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ เห็นว่า ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับความประเสริฐ ไม่ควรไปกำหนดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งอนุญาตหรือต้องห้าม

    รากเหง้าแนวคิดและหลักการศรัทธาของอัล-มาตุรีดิยะฮฺ

    จากการศึกษาข้างต้นผู้วิจัยพบว่า หลักการศรัทธาของอัล-มาตุรีดิยะฮฺนั้นมีการปะปนระหว่างสัจธรรมกับความเท็จ ในส่วนของสัจธรรมนั้นพวกเขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอะฮฺลุสสุนนะฮฺ ที่สังกัดมัซฮับ หะนะฟีย์รุ่นแรก เพราะผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่ามัซฮับ หะนะฟีย์ หลังจากที่อิมาม อบู หะนีฟะฮฺ เสียชีวิตนั้นมีการแตกแยกทางความคิดออกเป็นหลายสำนัก ซึ่งไม่มีผู้ใดยืนหยัดตามแนวทางที่อิมามอบู หะนีฟะฮฺและสหายของท่านทั้งสองได้วางไว้นอกจากบางคนที่อัลลอฮฺได้ประทานทางนำเท่านั้น และส่วนใหญ่แล้วผู้สังกัดมัซฮับหะนะฟีย์จะฝักใฝ่แนวคิดของกลุ่มอุตริกรรม เช่น กลุ่มญะฮฺมิยะฮฺ และ มุอฺตะซิละฮฺ

    และเนื่องจากประวัติศาสตร์มิได้กล่าวถึงรายละเอียดของการศึกษาหาความรู้ของอบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ว่าศึกษาหาความรู้จากปราชญ์ท่านใดบ้าง ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์รากเหง้าแนวคิดของท่านดังนี้

    - อบูมันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ได้รับอิทธิพลทางความคิดโดยตรง หรือทางอ้อมผ่านคณาจารย์ของท่านที่ฝักใฝ่แนวคิด ญะฮฺมิยะฮฺ ในประเด็นอัล-อิรญาอ์ (การตั้งความหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ) และการตะอฺฏีล (ปฏิเสธพระนามหรือคุณลักษณะของอัลลอฮฺ) เช่นเดียวกันนั้น ท่านได้รับอิทธิพลทางความคิดจากพวกมุอฺตะซิละฮฺและนักปรัชญากรีก ในประเด็นการปฏิเสธบางคุณลักษณะของอัลลอฮฺและการตีความคุณลักษณะของอัลลอฮฺให้มีความหมายเป็นอย่างอื่น ตลอดจนถึงการปฏิเสธคุณลักษณะอัล-อุลูว์ (การทรงเหนือบัลลังค์) และศิฟาต อัล-เคาะบะริยะฮฺ ซึ่งพวกเขาเข้าใจผิดว่านั้นคือหลักการเชื่อมันของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ

    - อบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอิบนุ กุ๊ลลาบ ( ฮ.ศ. 240) ซึ่งเป็นคนแรกที่ได้อุตริทัศนะที่ว่าพจนารถของอัลลอฮฺนั้นเป็นกะลาม นัฟสีย์ (ถ้อยคำที่ปราศจากเสียง) อัล-มาตุรีดีย์ได้รับอิทธิพลจากทัศนะนี้ทั้งที่ตนเองกับอิบนุ กุ๊ลลาบไม่มีโอกาสได้พบเจอกันมาก่อน เนื่องจากอิบนุ กุ๊ลลาบเสียชีวิตก่อนที่อัล-มาตุรีดีย์จะถือกำเนิดเสียอีก ชัยคุลอิสลาม อิบุตัยมิยะฮฺ ได้ยืนยันว่า อบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ได้มีทัศนะตามอิบนุก๊ลลาบในหลายประเด็นด้วยกัน เช่น ประเด็นคุณลักษณะของอัลลอฮฺ ประเด็นเกี่ยวกับอัลกุรอาน ว่าอัลลอฮฺนั้นตรัสด้วยพระประสงค์และเดชานุภาพของพระองค์เองหรือไม่ และประเด็นเกี่ยวกับ อัล-อิสติษนาอ์ (ตั้งข้อยกเว้นหรือเงื่อนไข)ในการศรัทธา (มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา 7/433 , มินหาจญ์ อัส-สุนนะฮฺ 2/362)

    การแพร่กระจายและแหล่งของแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ

    แนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺได้แพร่กระจายไปยังหลายประเทศ โดยเฉพาะในชมพูทวีปและประเทศใกล้เคียงอย่าง จีน บังคลาเทศ ปากีสถาน และอัฟกานิสถานนั้นมีผู้ยึดถือตามแนวคิดนี้อย่างมากมาย เช่นเดียวกับ ประเทศตุรกี เปอร์เซีย บางประเทศในยุโรป เอเชียกลาง และประเทศแถบแอฟริกาตอนเหนือก็มีผู้ฝักใฝ่แนวคิดนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการแพร่กระจายของอิทธิพลมัซฮับ หะนะฟีย์ นับว่าแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺยังคงได้รับกระแสความนิยมในแถบประเทศเหล่านี้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

    1. บรรดาปราชญ์ของสำนักคิดนี้ได้รับการสนับสนุนและการอุปถัมภ์จากบรรดากษัตริย์และผู้ปกครองรัฐ โดยเฉพาะบรรดาสุลต่านแห่งราชวงศ์อุษมานิยะฮฺ (ออตโตมาน)

    2. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาของอัล-มาตุรีดียะฮฺมีบทบาทสำคัญมากในการเผยแพร่แนวคิดนี้ โดยเฉพาะโรงเรียนดิวบันดิยะฮฺในประเทศอินเดีย ปากีสถาน และประเทศอื่นๆ ซึ่งในโรงเรียนเหล่านี้ยังมีการเรียนการสอนตำรับตำราเกี่ยวกับหลักการศรัทธาของอัล-มาตุรีดิยะฮฺ ว่าอัล-มาตุรีดิยะฮฺคือแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ

    3. มีการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังโดยเฉพาะในด้านการแต่งตำราเกี่ยวกับอิลมุลกะลาม (วิชาวิภาษวิทยา) และหนังสือตอบโต้กลุ่มแนวคิดเบี่ยงเบนอย่างแนวคิดของญะฮฺมิยะฮฺ แนวคิดมุอฺตะซิละฮฺ และแนวคิดรอฟีเฎาะฮฺ (ชีอะฮฺ)

    4. การพาดพิงถึงอิมามอบู หะนีฟะฮฺและการสังกัดกับมัซฮับ หะนะฟีย์ในด้านวิชาฟิกฮฺ

    บทสรุป

    อัล-มาตุรีดียะฮฺ เป็นกลุ่มวิภาษวิทยานิยมกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้น ณ เมืองสะมัรก็อนดฺ ในฮิจญ์เราะฮฺศตวรรษที่ 4 กลุ่มนี้พาดพิงไปยังบุคคลหนึ่งที่มีนามว่า อบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ว่าเป็นผู้ก่อตั้งแนวคิดนี้ กลุ่มแนวคิดนี้จะใช้หลักฐานและเหตุผลทางปัญญา ตรรกวิทยา ในการโต้แย้งกับคู่กรณีอย่างพวกมุอฺตะซิละฮฺ พวกญะฮฺมิยะฮฺ และพวกบาฏินียะฮฺ เป็นต้น เดิมนั้นกลุ่มแนวคิดนี้พยามยามที่จะแสวงหาทางสายกลางระหว่างแนวคิดของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ กับแนวคิด มุอฺตะซิละฮฺ ญะฮฺมิยะฮฺ และ พวกวิภาษวิทยานิยม แต่ในที่สุดแนวคิดนี้ได้ให้ความสำคัญต่อเหตุผลทางปัญญามากกว่าหลักฐานจากศาสนบัญญัติ (อัลกุรอานและสุนนะฮฺ) จึงทำให้มีทัศนะที่แบ่งหลักการศาสนาออกเป็น หลักการอักลิยาต และหลักการสัมอิยาต จากการแบ่งประเภทหลักการศาสนาดังกล่าวทำให้เกิดการตีความและการตัฟวีฎขึ้นมา พวกเขามีทัศนะว่าในอัลกุรอานและหะดีษนั้นมีมะญาซฺ (คำที่มีความหมายเป็นอย่างอื่นจากความหมายโดยผิวเผิน) มีทัศนะไม่รับหลักฐานที่เป็นหะดีษอาหาด (หะดีษที่มีสายรายงานจำนวนน้อยไม่ถึงขั้นมุตะวาติรฺ) พวกเขามีทัศนะว่าคัมภีร์ของอัลลอฮฺซึ่งหมายรวมถึงอัลกุรอานด้วยนั้นเป็นมัคลูก (สิ่งที่ถูกสร้าง) และอัลกุรอานนั้นเป็นพจนารถของอัลลอฮฺที่ดำรงด้วยตนเอง ซึ่งเป็นทัศนะที่ใกล้เคียงกับแนวคิดของมุอฺตะซิละฮฺ และญะฮฺมิยะฮฺ ส่วนประเด็นเกี่ยวกับอีมาน (การศรัทธา) นั้นพวกเขามีทัศนะเหมือนกับพวกมุรฺญิอะฮฺ พวกเขาทัศนะที่เหมือนกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ในประเด็นเกี่ยวกับ อัล-เกาะดัรฺ เรื่องราวของวันอาคิเราะฮฺ เหตุการณ์ในโลกแห่งบัรฺซัค(หลุมฝังศพ) และประเด็นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งผู้นำมุสลิมและเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ด้วยการที่พวกเขาจำกัดชนิดของอัต-เตาฮีดมีเพียง เตาฮีด อัล-คอลิกียะฮฺ และ อัร-รุบูบิยะฮฺ จึงทำให้อิทธิพลของพวกปรัชญานิยมเข้ามาครอบงำความคิดพวกเขา ส่วนสาเหตุสำคัญที่มีผู้คนยึดถือแนวคิดนี้มีจำนวนมาก ก็เพราะแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนและอุปถัมภ์จากอำนาจรัฐมาตลอด เช่น อาณาจักรอุษมานียะฮฺ นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาและโรงเรียนที่มีชื่อเสียงช่วยเผยแพร่แนวคิดนี้อีกทาง และด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ทำตามแนวคิดนี้ส่วนใหญ่สังกัดมัซฮับ หะนะฟีย์ในด้านวิชาฟิกฮฺจึงทำให้แนวคิดอัล-มาตุรีดีย์แพร่หลายจวบจนทุกวันนี้ แม้กระนั้นก็ตามพวกเขามีบทบาทสำคัญในการโต้ตอบแนวคิดอื่นที่หลงทางอย่างพวกมุอฺตะซิละฮฺ บาฏินียะฮฺ พวกปรัชญาปฏิเสธพระเจ้า และพวกรอฟิเฎาะฮฺ (ชีอะฮฺ) และพวกเขายังมีบทบาทสำคัญในการแต่ง วิเคราะห์ตำราเกี่ยวกับหะดีษ แต่ก็มีหลายประเด็นที่ควรระมัดระวัง

    จากหนังสือ

    الموسوعة الميسرة في الأديان والمذاهب والأحزاب المعاصرة، إعداد الندوة العالمية للشباب الإسلامي

    ที่มา http://www.saaid.net/feraq/mthahb/6.htm

    معلومات المادة باللغة الأصلية