الوصف
النهي عن البدع: مقالة مقتبسة ومترجمة من كتاب: «الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة» للشيخ أمين بن عبد الله الشقاوي - حفظه الله -، وقد بيَّن معنى البدعة وحقيقتها، وهي مردودة على صاحبها؛ لأنها ضلالة، وكل ضلالة في النار، وكل أمرٍ يُعتَبر بدعة إذا خالف الشرع في أمور ستة، وهي: السبب، والجنس، والقدر، والكيفية، والزمان، والمكان، ذاكرًا الأدلة الشرعية على ذلك.
ترجمات أخرى 2
ห้ามการทำอุตริกรรมในศาสนา
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ
ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ
2012 - 1433
﴿ النهي عن البدع ﴾
« باللغة التايلاندية »
د. أمين بن عبدالله الشقاوي
ترجمة: حسنى فوانجسيري
مراجعة: عصران نيومديشا
المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة
2012 - 1433
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
เรื่องที่ 139
ห้ามการทำอุตริกรรมในศาสนา
มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่าน ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่า มุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿ الٓمٓصٓ ١ كِتَٰبٌ أُنزِلَ إِلَيۡكَ فَلَا يَكُن فِي صَدۡرِكَ حَرَجٞ مِّنۡهُ لِتُنذِرَ بِهِۦ وَذِكۡرَىٰ لِلۡمُؤۡمِنِينَ ٢ ٱتَّبِعُواْ مَآ أُنزِلَ إِلَيۡكُم مِّن رَّبِّكُمۡ وَلَا تَتَّبِعُواْ مِن دُونِهِۦٓ أَوۡلِيَآءَۗ قَلِيلٗا مَّا تَذَكَّرُونَ ٣ ﴾ [الأعراف: ٣-1]
ความว่า "อะลิฟ ลาม มีม ศอด มีคัมภีร์ฉบับหนึ่งซึ่งถูกประทานลงมาแก่เจ้า ดังนั้นจงอย่าให้ความอึดอัดเนื่องจากคัมภีร์นั้นมีอยู่ในหัวอกของเจ้า ทั้งนี้เพื่อเจ้าจะได้ใช้คัมภีร์นั้นตักเตือน(ผู้คน) และเพื่อเป็นข้อเตือนใจแก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่พวกเจ้าจากพระเจ้าของพวกเจ้าเถิด และอย่าปฏิบัติตามบรรดาผู้คุ้มครองใดๆ อื่นจากพระองค์ ส่วนน้อยจากพวกเจ้าเท่านั้นแหละที่จะรำลึก” (อัล อะอฺรอฟ 1-3)
และตรัสอีกว่า
﴿ أَمۡ لَهُمۡ شُرَكَٰٓؤُاْ شَرَعُواْ لَهُم مِّنَ ٱلدِّينِ مَا لَمۡ يَأۡذَنۢ بِهِ ٱللَّهُۚ ﴾ [الشورى: ٢١]
ความว่า "หรือว่าพวกเขามีภาคีต่างๆที่ได้กำหนดศาสนาแก่พวกเขา ซึ่งอัลลอฮฺมิได้ทรงอนุมัติ" (อัชชูรอ 21)
มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ أَحْدَثَ فِيْ أَمْرِنَا هَذَا مَا لَيْسَ فِيْهِ فَهُوَ رَدٌّ» [البخاري برقم 2697، ومسلم برقم 1718]
ความว่า "ผู้ใดอุตริทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ได้อยู่ในแนวทางของเรา สิ่งนั้นย่อมถูกปฏิเสธ" (อัลบุคอรียฺ หน้า 514 หะดีษเลขที่ 2697 และมุสลิม หน้า 714 หะดีษเลขที่ 1718)
อุตริกรรม (บิดอะฮฺ) นั้นคือทุกๆสิ่งที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาในศาสนาโดยไม่มีหลักฐานรองรับ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«وَشَرُّ الأُمُوْرِ مُحْدَثَاتُهَا ، وَكُلُّ مُحْدَثَةٍ بِدْعَةٌ ، وَكُلُّ بِدْعَةٍ ضَلَالَةٌ ، وَكُلُّ ضَلاَلَةٍ فِي النَّارِ» [سنن النسائي ص186 برقم 1578]
ความว่า "และสิ่งที่ชั่วช้าที่สุดคือสิ่งที่อุปโลกน์ขึ้นมาในศาสนา และทุกๆ สิ่งที่อุปโลกน์ขึ้นมานั้นถือเป็นอุตริกรรมทั้งสิ้น และทุกๆสิ่งที่เป็นอุตริกรรมถือเป็นความหลงผิด และแน่นอนทุกๆความหลงผิดย่อมได้รับโทษในนรก” (สุนันอันนะสาอีย์ หน้า 186 หะดีษเลขที่ 1578)
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวอีกว่า
«مَنْ عَمَلَ عَمَلًا لَيْسَ عَلَيْهِ أمْرنَا فَهُوَ رَدٌّ» [مسلم برقم 1718]
ความว่า “ผู้ใดปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ใช่แนวทางของเรา แน่นอนว่าสิ่งนั้นย่อมถูกปฏิเสธ” (มุสลิม หน้า 714 หะดีษเลขที่ 1718)
อิบนุ เราะญับ ได้อธิบายหะดีษข้างต้นว่า: “มันคือรากฐานที่สำคัญของอิสลาม เปรียบเสมือนเกณฑ์วัดการงานต่างๆจากภายนอก เช่นเดียวกับที่มีหะดีษว่า ความว่า: "แท้จริงการงานทั้งหลายขึ้นอยู่กับเจตนา" เป็นเกณฑ์วัดการงานจากภายใน ทุกๆ การงานที่ผู้ปฏิบัติมิได้กระทำเพื่อพระองค์อัลลอฮ ตะอาลา เขาผู้นั้นก็จะไม่ได้รับผลบุญตอบแทนใดๆ และเช่นกันทุกๆ การกระทำที่ไม่ได้มีคำสั่งใช้จากอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ การกระทำของเขานั้นก็จะถูกปฏิเสธ ดังนั้น ทุกๆสิ่งที่อุปโลกน์ขึ้นมาในงานของศาสนาโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากอัลลอฮฺและเราะสูล สิ่งนั้นก็ถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยสิ้นเชิง" (ญามิอุลอุลูม วัลหิกัม 1/176)
อิบนุ หะญัรฺ กล่าวว่า "หะดีษบทนี้นับว่าเป็นรากฐานและกฎเกณฑ์ข้อหนึ่งของอิสลาม หมายความว่า ถ้าผู้ใดที่อุตริทำสิ่งใดเกี่ยวกับงานของศาสนาโดยไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องมายืนยัน ก็จงอย่าได้มีใครใส่ใจในสิ่งนั้น" (ฟัตหุลบารีย์ 5/302-303)
อันนะวะวียฺ กล่าวว่า "สมควรเป็นอย่างยิ่งที่ท่องจำและใช้หะดีษข้างต้นเป็นหลักฐานในการต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งหลาย" (ฟัตหุลบารีย์ 5/302-303)
อัฏฏ็อรกียฺ กล่าวว่า "หะดีษข้างต้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นครึ่งหนึ่งของหลักฐานทั้งหมดในบทบัญญัติอิสลาม" (ฟัตหุลบารีย์ 5/302-303)
อิบนุลก็อยยิม กล่าวว่า "หากหัวใจหมกมุ่นอยู่กับการทำอุตริกรรม มันจะหันเหออกจากแบบฉบับของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม" (อิฆอษะตุลละฮฺฟาน 1/213)
มีรายงานจากท่านญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวคุฏบะฮฺในวันศุกร์ว่า
«فَإِنَّ خَيْرَ اْلحَدِيْثِ كِتَابُ اللهِ، وَخَيْرَ الهَدْيِ هَدْيُ مُحَمَّدٍ صَلّىَ اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، وَشَرَّ الأُمُوْرِ مُحْدَثَاتُهَا، وَكُلَّ بِدْعَةٍ ضَلَالَةٌ» [مسلم برقم 867]
ความว่า "แท้จริงคำพูดที่ประเสริฐที่สุดคือคัมภีร์ของอัลลอฮฺ ส่วนแนวทางที่ประเสริฐที่สุดก็คือแนวทางของมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม การงานที่ชั่วช้าที่สุดคือสิ่งที่อุปโลกน์ขึ้นใหม่ และทุกอุตริกรรมนั้นคือความหลงผิด" (มุสลิม หน้า 335 หะดีษเลขที่ 867)
เชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ กล่าวว่า: "ได้มีหลักฐานที่ชัดเจนจากเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาสะลัฟทั้งหลาย ว่าพวกเขานั้นได้เตือนให้ระวังและออกห่างจากการทำบิดอะฮฺ เพราะเป็นการอุปโลกน์อุตริสิ่งใหม่ขึ้นมาในศาสนาโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากพระองค์อัลลอฮฺ และเป็นพฤติกรรมที่เหมือนกับพวกยะฮูดีและนัศรอนีซึ่งพวกเขานั้นได้เพิ่มและอุตริสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาในศาสนาของพวกเขาโดยไม่ได้รับการอนุมัติ และการทำอุตริกรรมเหล่านี้นั้น ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่ออิสลามอย่างใหญ่หลวง เพราะเท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าอิสลามยังไม่สมบูรณ์ ยังมีบางสิ่งบางอย่างขาดตกบกพร่อง และขัดกับสิ่งที่พระองค์ ตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า
﴿ ٱلۡيَوۡمَ أَكۡمَلۡتُ لَكُمۡ دِينَكُمۡ وَأَتۡمَمۡتُ عَلَيۡكُمۡ نِعۡمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ ٱلۡإِسۡلَٰمَ دِينٗاۚ ٣ ﴾ [المائدة: ٣]
ความว่า "วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้วซึ่งศาสนาของพวกเจ้า และข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาของพวกเจ้าแล้ว" (อัล มาอิดะฮฺ 3)
และยังเป็นการฝ่าฝืนอย่างชัดเจนต่อหะดีษของท่านเราะสูลหลายต่อหลายบท ที่เตือนสำทับให้พึงระวังและห้ามการทำอุตริกรรม" (อัตตะหฺซีรฺ มินัลบิดะอฺ หน้า 11)
ครั้งหนึ่งท่านอิบนุมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เดินผ่านคนกลุ่มหนึ่งซึ่งนั่งรอเวลาละหมาดในมัสยิด โดยพวกเขานั่งเป็นกลุ่มเล็กๆ หลายกลุ่ม แต่ละคนถือก้อนกรวดไว้ในมือ แล้วมีคนหนึ่งคอยกล่าวแก่พวกเขาว่า: "พวกท่านจงกล่าวตัสบีหฺหนึ่งร้อยครั้ง" แล้วพวกเขาก็พากันกล่าวตัสบีหฺ "ตักบีรฺหนึ่งร้อยครั้ง" แล้วพวกเขาก็พากันกล่าวตักบีรฺ "ตะฮฺลีลหนึ่งร้อยครั้ง" แล้วพวกเขาก็ต่างกล่าวตะฮฺลีล
ท่านอิบนุมัสอูดจึงกล่าวแก่พวกเขาว่า "พวกท่านจงนับบาปความผิดของพวกท่านเถิด ฉันขอรับรองว่าความดีของพวกท่านจะไม่หายไปไหน พวกท่านนี่ช่างน่าอัปยศเสียนี่กระไร โอ้ ประชาชาติของมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พวกท่านก็เห็นว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบียังมีชีวิตอยู่มากมายหลายท่าน ท่านนบีเองก็เพิ่งจากไปได้ไม่นาน เสื้อผ้าอาภรณ์ของท่านก็ยังอยู่ เครื่องถ้วยชามของท่านก็ยังอยู่! ฉันขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของพระองค์ พวกท่านกำลังดำเนินอยู่ในแนวทางที่ดีกว่าแนวทางของมุหัมมัดอย่างนั้นหรือ? หรือพวกท่านเป็นผู้เปิดประตูแห่งความหลงผิดกันแน่?" พวกเขาก็กล่าวแก่ท่านอิบนุมัสอูดว่า: โอ้ท่านอบูอับดิรฺเราะหฺมาน พวกเราไม่ได้แสวงหาสิ่งอื่นใดนอกจากความดีงาม ท่านก็ตอบว่า: "ผู้แสวงหาความดีงามกี่มากน้อยแล้วที่ไม่ได้พบเจอกับสิ่งที่ต้องการ" (มุอฺญัม อัฏเฏาะบะรอนีย์ อัลกะบีรฺ 9/127 เลขที่ 8636)
นักวิชาการได้กล่าวว่า ทุกๆ การงานที่มุสลิมกระทำเพื่อหวังจะใกล้ชิดเข้าหาพระองค์อัลลอฮฺนั้น จำเป็นจะต้องมีเงื่อนไขสองประการ ดังนี้
เงื่อนไขข้อที่หนึ่ง ต้องมีอิคลาศ (ความบริสุทธิ์ใจ) ต่อพระองค์อัลลอฮฺ
มีรายงานจากท่านอุมัร บิน ค็อฎฎอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إِنَّمَا الأَعْمَالُ بِالنِّيَاتِ ، وَإِنَّمَا لِكُلِّ امْرِئٍ مَا نَوَى، فَمَنْ كَانَتْ هِجْرَتُهُ إِلَى اللهِ وَرَسُوْلِهِ فَهِجْرَتُهُ إِلىَ اللهِ وَرَسُوْلِهِِِ، وَمَنْ كاَنَتْ هِجْرَتُهُ لِدُنْيَا يُصِيْبهاَ أَوْ امْرَأَة يَنْكِحُهَا فَهِجْرَتُهُ إِلَى مَا هَاجَرَ إِلَيْهِ» [البخاري برقم 1، ومسلم برقم 1907]
ความว่า "แท้จริงทุกๆ การงานนั้นขึ้นอยู่กับเจตนา และทุกๆคนนั้นจะได้รับการตอบแทนตามเจตนาของเขา ดังนั้นผู้ใดที่การอพยพของเขามีเจตนาเพื่อการแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ การอพยพของเขานั้นก็จะกลับไปสู่อัลลอฮฺและเราะสูล และผู้ใดที่การอพยพของเขามีเจตนาเพื่อผลประโยชน์ทางโลกที่เขาจะได้รับ หรือเพื่อหญิงนางหนึ่งที่เขาหวังจะแต่งงานด้วย การอพยพของเขาก็จะกลับคืนสู่สิ่งที่เขาได้อพยพไป" (อัลบุคอรียฺ หน้า 21 หะดีษเลขที่ 1 และมุสลิม หน้า 792 หะดีษเลขที่ 1907)
เงื่อนไขที่สอง ต้องปฏิบัติตามแบบฉบับของท่าน
เราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งการปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนาในหกด้าน ดังต่อไปนี้
1. สาเหตุ: กล่าวคือการทำอิบาดะฮฺเพื่อสาเหตุหนึ่งสาเหตุใดที่ไม่ได้มีบัญญัติไว้ในศาสนา ซึ่งการกระทำดังกล่าว (ถึงแม้คนๆ นั้นจะคิดว่าเขาทำอิบาดะฮฺเพื่ออัลลอฮฺ) ก็จะไม่ถูกตอบรับ
ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งละหมาดกิยามุลลัยลฺในคืนที่ยี่สิบเจ็ดของเดือนเราะญับ โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นคืนอิสรออ์เมียะอฺรอจญ์ ทั้งนี้ การละหมาดตะฮัญญุดนั้นเป็นอิบาดะฮฺและเป็นที่ส่งเสริม แต่เมื่อไปอิงกับเหตุผลดังกล่าวก็ถือเป็นบิดอะฮฺ เพราะเขาทำอิบาดะฮฺนี้โดยอ้างอิงสิ่งที่ไม่มีหลักฐานรับรอง ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่าผู้คนมากมายกระทำบิดอะฮฺโดยคิดว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสุนนะฮฺ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วหาใช่สุนนะฮฺไม่
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การจัดงานเมาลิด ก็ถือเป็นบิดอะฮฺอีกเช่นกัน เพราะการกระทำดังกล่าวไม่มีหลักฐานรับรองตามบทบัญญัติ และท่านนบีรวมถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺและบรรพชนยุคแรกก็ไม่เคยกระทำสิ่งนี้ แต่ผู้ที่อุตริริเริ่มขึ้นก็คือพวก
รอฟิเฎาะฮฺที่ปกครองอียิปต์ในสมัยศตวรรษที่สิบ
2. ประเภท: จำเป็นอย่างยิ่งที่การทำอิบาดะฮฺใดๆจะต้องไม่มีการบิดเบือนต่อบทบัญญัติอิสลามในเรื่องประเภทหรือชนิดของการทำอิบาดะฮฺ และการกระทำที่ผิดประเภทก็จะไม่ถูกตอบรับ
ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งเชือดม้าเป็นอุฎหิยะฮฺ
(กุรบ่าน) การทำอุฎหิยะฮฺของเขานั้นไม่ถูกต้องเพราะขัดแย้งกับบทบัญญัติศาสนาในส่วนของประเภท โดยการทำอุฎหิยะฮฺนั้นกระทำได้เฉพาะกับปศุสัตว์ประเภทอูฐ วัว และแพะหรือแกะเท่านั้น
3. จำนวน: กล่าวคือหากผู้ใดต้องการเพิ่มละหมาดฟัรฎฺอีกเวลาหนึ่ง การกระทำของเขาถือเป็นบิดอะฮฺและจะไม่ถูกตอบรับ เพราะเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนาในเรื่องจำนวน เช่นเดียวกันถ้าผู้ใดละหมาดซุฮรฺจำนวนห้าร็อกอัต การละหมาดของเขานั้นใช้ไม่ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้ง
4. วิธีการ: กล่าวคือถ้าชายคนหนึ่งอาบน้ำละหมาด โดยเริ่มด้วยการล้างเท้าทั้งสองข้าง หลังจากนั้นจึงเช็ดศีรษะ ล้างมือทั้งสองข้าง แล้วจึงล้างหน้า เช่นนี้การอาบน้ำละหมาดของเขาถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะเขาปฏิบัติไม่ตรงตามรูปแบบที่ศาสนาบัญญัติไว้
5. ช่วงเวลา: กล่าวคือถ้าชายคนหนึ่งเชือดสัตว์ทำ
อุฎหิยะฮฺในวันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ การเชือดสัตว์ของเขานั้นจะไม่ถูกตอบรับเพราะกระทำในช่วงเวลาที่ไม่ตรงกับที่ศาสนากำหนด และบางคนเชือดแพะในเดือนเราะมะฎอนโดยยึดถือว่าเป็นการทำความดีเพื่อใกล้ชิดอัลลอฮฺ นั่นก็ถือเป็นบิดอะฮฺเพราะไม่มีการเชือดใดที่ทำให้ได้ใกล้ชิดพระองค์นอกจากการทำอุฎหิยะฮฺ ฮัดยฺ (การเชือดในพิธีหัจญ์หรือ
อุมเราะฮฺ) และอะกีเกาะฮฺ ส่วนการเชือดในเดือนเราะมะฎอนโดยเชื่อว่าจะได้ผลบุญเสมือนกับการเชือดในวันอีดอัฎฮาก็เป็นบิดอะฮฺเช่นกัน ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการเชือดเพื่อรับประทานก็ถือว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้
6. สถานที่: เช่น ชายคนหนึ่งเอียะติกาฟในสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่มัสยิด ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะการเอียะติกาฟจำเป็นต้องกระทำในมัสยิดเท่านั้น และถ้าหญิงคนหนึ่งทำการเอียะติกาฟที่บ้านของนาง เช่นนี้ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน เพราะปฏิบัติไม่ตรงกับรูปแบบของศาสนาในส่วนของสถานที่
และอีกหนึ่งตัวอย่าง ถ้าชายคนหนึ่งต้องการทำ
เฏาะวาฟ (ในพิธีฮัจญ์) และเขาพบว่าสถานที่สำหรับการทำเฏาะวาฟ หรือรอบๆ สถานที่นั้นเต็มแน่นไปด้วยผู้คน จึงเปลี่ยนสถานที่ทำเฏาะวาฟไปที่ด้านหลังมัสยิด เช่นนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะสถานที่เฏาะวาฟคือบัยตุลลอฮฺเท่านั้น ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสแก่ท่านนบีอิบรอฮีมว่า
﴿ وَطَهِّرۡ بَيۡتِيَ لِلطَّآئِفِينَ وَٱلۡقَآئِمِينَ وَٱلرُّكَّعِ ٱلسُّجُودِ ٢٦ ﴾ [الحج : ٢٦]
ความว่า "และจงทำบ้านของข้าให้สะอาดสำหรับผู้มาเวียนรอบ ผู้ยืนละหมาด ผู้รุกูอฺ และผู้สุญูด" (อัล-หัจญ์ 26)
والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.