×

อธิบายความหมายสูเราะฮฺ อัฎ-ฎุฮา (ไทย)

สร้างโดย: อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

Description

อธิบายความหมายของสูเราะฮฺอัฎ-ฎุฮา เป็นสูเราะฮฺที่ปลอบโยนท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งกล่าวถึงการที่อัลลอฮฺทรงปกป้องท่านและคอยช่วยเหลือท่าน และยังเตรียมผลรางวัลอันยิ่งใหญ่ในสวรรค์ให้อีกด้วย นับเป็นบุญคุณอันมหาศาลที่ท่านได้รับจากพระองค์อัลลอฮฺ ควรค่าที่ต้องขอบคุณอย่างมาก เป็นบทความจากหนังสืออัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ ของเชคอะมีน อัช-ชะกอวีย์

Download Book

    อธิบายความหมายสูเราะฮฺ อัฎ-ฎุฮา

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : อัฟนาน เพ็ชรทองคำ

    ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ

    2013 - 1435

    تفسير سورة الضحى

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: أفنان فيتونكام

    مراجعة: عصران نيومديشا

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2013 - 1435

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    อธิบายความหมายสูเราะฮฺ อัฎ-ฎุฮา

    มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ขอการสรรเสริญจากอัลลอฮฺและความสันติจงมีแด่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่าน ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ ฉันขอปฏิญาณว่า มุหัมมัดเป็นบ่าวของพระองค์อัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

    อัลลอฮฺทรงประทานอัลกุรอานอันยิ่งใหญ่ลงมาเพื่อให้เราพิจารณาและปฏิบัติตาม พระองค์ฮฺตรัสว่า

    ﴿ كِتَٰبٌ أَنزَلۡنَٰهُ إِلَيۡكَ مُبَٰرَكٞ لِّيَدَّبَّرُوٓاْ ءَايَٰتِهِۦ وَلِيَتَذَكَّرَ أُوْلُواْ ٱلۡأَلۡبَٰبِ ٢٩ ﴾ [ص: 29]

    ความว่า “คัมภีร์ (อัลกุรอาน) เราได้ประทานลงมาให้แก่เจ้าซึ่งมีความจำเริญ เพื่อพวกเขาจะได้พินิจพิจารณาอายาตต่างๆของอัลกุรอาน และเพื่อปวงผู้มีสติปัญญาจะได้ใคร่ครวญ” (ศอด: 29)

    มีสูเราะฮฺหนึ่งจากอัลกุรอานที่เราได้ยินอยู่บ่อยครั้ง และต้องการเวลานั่งคิดพิจารณาและใคร่ครวญนั่นคือสูเราะฮฺอัฎ-ฎุฮา

    มีรายงานจากหะดีษจากท่านญุนดุบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่าครั้งหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ล้มป่วย ทำให้ท่านยืนละหมาดไม่ได้อยู่คืนหนึ่ง สองคืน หรือสามคืน จากนั้นมีหญิงคนหนึ่งมาหาท่าน แล้วกล่าวแก่ท่านว่า “โอ้ มุหัมมัด ฉันหวังว่าชัยฏอนของท่านจะทอดทิ้งท่านไปแล้ว ฉันไม่เห็นเขาเข้าใกล้ท่านมาสองสามคืนแล้ว” ดังนั้นอัลลอฮฺจึงประทานอายะฮฺนี้ลงมา

    ﴿وَٱلضُّحَىٰ ١ وَٱلَّيۡلِ إِذَا سَجَىٰ ٢ مَا وَدَّعَكَ رَبُّكَ وَمَا قَلَىٰ ٣[الضحى: 1-3]

    ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลาสาย และด้วยเวลากลางคืนเมื่อมันมืดและสงัดเงียบ พระเจ้าของเจ้ามิได้ทรงทอดทิ้งเจ้า และมิได้ทรงโกรธเคืองเจ้า” (อัฎ-ฎุฮา : 1-3)

    ในบางรายงานระบุว่าผู้หญิงที่มาหาท่านนั้นคืออุมมุญะมีล ภรรยาของอบูละฮับ

    คำอธิบายอายะฮฺที่หนึ่ง

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿وَٱلضُّحَىٰ ١

    ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลาสาย (อัฎ-ฎุฮา: 1)

    นี่เป็นคำสาบานจากอัลลอฮฺตะอาลาด้วยเวลาสาย และด้วยแสงสว่าง

    คำอธิบายอายะฮฺที่สอง

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَٱلَّيۡلِ إِذَا سَجَىٰ ٢

    ความว่า “และด้วยเวลากลางคืนเมื่อมันมืดและเงียบสงัด” (อัฎ-ฎุฮา: 2)

    คือ เมื่อถึงเวลาที่เงียบสงบและมืดมิดที่สุด และนี่เป็นหลักฐานที่ชัดแจ้งถึงความปรีชาญาณของผู้ทรงสร้าง อายะฮฺนี้มีความหมายทำนองเดียวกับที่พระองค์ตรัสว่า

    ﴿ وَٱلَّيۡلِ إِذَا يَغۡشَىٰ ١ وَٱلنَّهَارِ إِذَا تَجَلَّىٰ ٢

    ความว่า “ขอสาบานด้วยเวลากลางคืน เมื่อมันปกคลุม และด้วยเวลากลางวันเมื่อมันประกายแสง” (อัล-ลัยลฺ: 1-2)

    และดำรัสที่ว่า

    ﴿ فَالِقُ ٱلۡإِصۡبَاحِ وَجَعَلَ ٱلَّيۡلَ سَكَنٗا وَٱلشَّمۡسَ وَٱلۡقَمَرَ حُسۡبَانٗاۚ ذَٰلِكَ تَقۡدِيرُ ٱلۡعَزِيزِ ٱلۡعَلِيمِ ٩٦ ﴾ [الأنعام: 96]

    ความว่า "ผู้ทรงเผยอรุโณทัย และทรงให้กลางคืนเป็นเวลาพักผ่อน และทรงให้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นการคำนวณนั่นคือการกำหนดให้มีขึ้นของผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัล-อันอาม: 96)

    คำอธิบายอายะฮฺที่สามและสี่

    ﴿ مَا وَدَّعَكَ رَبُّكَ وَمَا قَلَىٰ ٣ وَلَلۡأٓخِرَةُ خَيۡرٞ لَّكَ مِنَ ٱلۡأُولَىٰ ٤

    ความว่า “พระเจ้าของเจ้ามิได้ทรงทอดทิ้งเจ้า และมิได้ทรงโกรธเคืองเจ้า และแน่นอนเบื้องปลายเป็นการดียิ่งแก่เจ้ากว่าเบื้องต้น” (อัฎ-ฎุฮา: 3-4)

    คือ ที่พำนักของเจ้าในโลกหน้านั้นดีกว่าโลกนี้ ดังกล่าวนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงเป็นผู้ที่สมถะที่สุดในโลกดุนยา ดังที่เราทราบดีจากประวัติของท่าน และเมื่ออัลลอฮฺทรงให้ท่านเลือกในช่วงท้ายของชีวิต ระหว่างการมีชีวิตนิรันดรจนวันสุดท้ายของโลกนี้แล้วค่อยเข้าสวรรค์ กับการไปพบพระเจ้าของท่าน ท่านก็เลือกที่จะไปพบกับพระเจ้ามากกว่าโลกนี้ที่จุดจบของมันคือการสูญสลาย

    อบูมุวัยฮิบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « يَا أَبَا مُوَيْهِبَةَ، إِنِّي قَدْ أُوتِيتُ مَفَاتِيحَ خَزَائِنِ الدُّنْيَا، وَالْخُلْدَ فِيهَا، ثُمَّ الْجَنَّةَ، وَخُيِّرْتُ بَيْنَ ذَلِكَ، وَبَيْنَ لِقَاءِ رَبِّي عَزَّ وَجَلَّ وَالْجَنَّةِ »

    ความว่า “อบูมุวัยฮิบะฮฺเอ๋ย ฉันได้รับกุญแจแห่งขุมทรัพย์และการมีชีวิตนิรันดรในโลกนี้หลังจากนั้นจึงได้เข้าสวนสวรรค์ และมีผู้ให้ฉันเลือกระหว่างสิ่งที่กล่าวมากับการได้พบกับพระเจ้าของฉันและได้เข้าสวนสวรรค์ทันที”

    เขา (อบูมุวัยฮิบะฮฺ) เล่าต่อว่า ฉันกล่าวแก่ท่านว่า "ถ้าเป็นเช่นนั้น ท่านก็จงเลือกกุญแจและการมีชีวิตนิรันดรในโลกนี้ แล้วค่อยเข้าสวรรค์เถิด” ท่านนบีจึงกล่าวว่า

    « لاَ وَاللّهِ يَا أَبَا مُوَيْهِبَةَ ، لَقَدِ اخْتَرْتُ لِقَاءَ رَبِّي وَ الجنَّةَ »

    ความว่า “ไม่หรอก ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ มุวัยฮิบะฮฺเอ๋ย ฉันเลือกการพบกับพระเจ้าของฉัน และสวนสวรรค์”

    แล้วท่านก็ขออภัยโทษแก่ผู้ที่ถูกฝังในสุสานบะกีอฺ แล้วจากไป หลังจากนั้นท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็เริ่มป่วยกระทั่งอัลลอฮฺทรงรับท่านไปเมื่อรุ่งเช้า”

    (บันทึกโดยอิมามอะหมัดในมุสนัด หะดีษที่ 15997 ผู้ตรวจสอบหนังสือกล่าวว่า สายรายงานอ่อน แต่ตัวบทหะดีษในส่วนของการขออภัยโทษให้แก่ชาวบะกีอฺ และการที่ท่านเลือกที่จะพบกับพระเจ้าของท่านนั้นถูกต้อง)

    คำอธิบายอายะฮฺที่ห้า

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَلَسَوۡفَ يُعۡطِيكَ رَبُّكَ فَتَرۡضَىٰٓ ٥

    ความว่า “และความแน่นอนพระเจ้าของเจ้าจะให้แก่เจ้าจนกว่าจะพอใจ” (อัฎ-ฎุฮา: 5)

    ในโลกหน้า อัลลอฮฺจะทรงให้แก่ท่านจนกระทั่งท่านพอใจเกี่ยวกับประชาชาติของท่าน และความมีเกียรติที่พระองค์ทรงเตรียมไว้ให้กับท่าน ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือแม่น้ำเกาษัรซึ่งสองข้างแม่น้ำเต็มไปด้วยกระโจมที่ทำจากไข่มุกใสบริสุทธิ์ ดินของแม่น้ำเป็นชะมดเชียงมีกลิ่นหอมหวนไปไกล

    มีรายงานซึ่งบันทึกโดยอิบนุญะรีร จากหะดีษของอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า “สิ่งที่จะถูกมอบให้แก่ประชาชาติของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมหลังจากท่านจากไปแล้ว ได้ถูกเสนอให้ท่านทราบขุมทรัพย์แล้วขุมทรัพย์เล่า ท่านดีใจมีความสุขกับข่าวดีดังกล่าว ดังนั้นอัลลอฮฺจึงประทานอายะฮฺอัลกุรอานลงมาว่า

    ﴿ وَلَسَوۡفَ يُعۡطِيكَ رَبُّكَ فَتَرۡضَىٰٓ ٥

    ความว่า “และด้วยความแน่นอนพระเจ้าของเจ้าจะให้แก่เจ้าจนกว่าจะพอใจ” (อัฎ-ฎุฮา: 5)

    แล้วอัลลอฮฺก็ทรงมอบคฤหาสน์ในสวนสวรรค์ให้แก่ท่านหนึ่งพันหลัง ในทุก ๆ คฤหาสน์มีภรรยาและคนรับใช้ในจำนวนที่เหมาะสม” (เล่ม 12 หน้า 624 หะดีษเลขที่ 37513) ท่านอิบนุกะษีรกล่าวว่า นี่เป็นสายรายงานที่ถูกต้องจากท่านอิบนุอับบาส ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวดังที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถคิดเองได้ แต่จะต้องเป็นสิ่งที่รายงานมาจากท่านนบี (ตัฟสีรฺอิบนุกะษีร เล่ม 14 หน้า 383)

    คำอธิบายอายะฮฺที่หก

    แล้วอัลลอฮฺก็ทรงแจกแจงความโปรดปรานที่พระองค์ทรงประทานแก่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ผู้เป็นบ่าวและเราะสูลของพระองค์ โดยพระองค์ตรัสว่า

    ﴿ أَلَمۡ يَجِدۡكَ يَتِيمٗا فَ‍َٔاوَىٰ ٦ ﴾

    ความว่า “พระองค์มิได้ทรงพบเจ้าเป็นกำพร้าแล้วทรงให้ที่พึ่งดอกหรือ ?” (อัฎ-ฎุฮา: 6)

    ทั้งนี้ เพราะว่าบิดาของท่านเสียชีวิตขณะที่ท่านอยู่ในครรภ์มารดา บางทัศนะเห็นว่าบิดาของท่านเสียชีวิตหลังจากที่ท่านเกิดมา หลังจากนั้น อามินะฮฺ บินตุ วะฮับ มารดาของท่าน ก็เสียชีวิตขณะท่านมีอายุเพียงหกขวบ

    ท่านจึงอยู่ในการเลี้ยงดูของอับดุลมุฏเฏาะลิบปู่ของท่าน จนกระทั่งปู่ของท่านเสียชีวิตเมื่อท่านอายุแปดปี หลังจากนั้นอบูฏอลิบลุงของท่านจึงรับท่านมาเลี้ยงดู โดยอยู่เคียงข้างช่วยเหลือ ยกย่องให้เกียรติท่าน และช่วยท่านให้พ้นจากการทำร้ายของกลุ่มชนของท่าน หลังจากที่อัลลอฮฺทรงแต่งตั้งท่านเป็นนบีขณะที่ท่านมีอายุได้สี่สิบปี ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในขณะที่อบูฏอลิบยังคงอยู่ในศาสนาของกลุ่มชนของเขาซึ่งกราบไหว้รูปเจว็ด ทุก ๆ อย่างนี้เป็นไปตามกำหนดของอัลลอฮฺและการจัดการที่เหมาะสมของพระองค์ จนกระทั่งอบูฏอลิบเสียชีวิตก่อนท่านอพยพเพียงเล็กน้อย ชาวกุเรชและพวกโง่เขลาจึงต่างรุมเข้าหาท่าน (เพื่อที่จะจัดการกับท่าน)

    อัลลอฮฺจึงทรงเลือกให้ท่านอพยพออกจากกลุ่มชนของท่านไปยังเมืองของชาวอันศอรฺ (ผู้ช่วยเหลือ) ซึ่งมีเผ่าอัล-เอาส์และอัล-ค็อซร็อจญฺอาศัยอยู่ และอัลลอฮฺก็ทรงดำเนินแนวทางของพระองค์อย่างเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เดินทางไปถึง พวกเขาก็ให้ที่พักพิงแก่ท่าน ช่วยเหลือ อยู่เคียงข้าง และสู้รบร่วมกับท่าน ทุก ๆ สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นผลจากการที่อัลลอฮฺทรงปกปักษ์รักษาและดูแลท่านนั่นเอง (ตัฟสีรฺอิบนุกะษีร เล่ม 14 หน้า 384)

    คำอธิบายอายะฮฺที่เจ็ด

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَوَجَدَكَ ضَآلّٗا فَهَدَىٰ ٧

    ความว่า “และทรงพบเจ้าระเหเร่ร่อน แล้วก็ทรงชี้แนะทาง (แก่เจ้า) ดอกหรือ? (อัฎ-ฎุฮา: 7)

    ซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกับดำรัสของพระองค์ที่ว่า

    ﴿ وَكَذَٰلِكَ أَوۡحَيۡنَآ إِلَيۡكَ رُوحٗا مِّنۡ أَمۡرِنَاۚ مَا كُنتَ تَدۡرِي مَا ٱلۡكِتَٰبُ وَلَا ٱلۡإِيمَٰنُ وَلَٰكِن جَعَلۡنَٰهُ نُورٗا نَّهۡدِي بِهِۦ مَن نَّشَآءُ مِنۡ عِبَادِنَاۚ وَإِنَّكَ لَتَهۡدِيٓ إِلَىٰ صِرَٰطٖ مُّسۡتَقِيمٖ ٥٢ ﴾

    ความว่า "และเช่นนั้นแหละเราได้วะฮียฺอัลกุรอานแก่เจ้าตามบัญชาของเรา เจ้าไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าอะไรคือคัมภีร์ และอะไรคือการศรัทธา แต่ว่าเราได้ทำให้อัลกุรอานเป็นแสงสว่างเพื่อชี้แนะทาง โดยนัยนั้นแก่ผู้ที่เราประสงค์จากปวงบ่าวของเรา และแท้จริงเจ้านั้น จะได้รับการชี้แนะสู่ทางอันเที่ยงธรรมอย่างแน่นอน” (อัช-ชูรอ: 52)

    คำอธิบายอายะฮฺที่แปด

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَوَجَدَكَ عَآئِلٗا فَأَغۡنَىٰ ٨

    ความว่า “และทรงพบเจ้าเป็นผู้ขัดสน แล้วทรงให้ความมั่งคั่ง (แก่เจ้า) ดอกหรือ?” (อัฎ-ฎุฮา: 8)

    คือเจ้าเคยเป็นผู้ยากไร้ผู้ต้องการความช่วยเหลือแล้วอัลลอฮฺทรงทำให้เจ้าไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ใดนอกจากพระองค์ ดังนั้นอัลลอฮฺทรงทำให้ท่านนบี ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อยู่ในสองตำแหน่งที่มีเกียรติ คือผู้ขัดสนที่อดทนและผู้ร่ำรวยที่ขอบคุณ

    อบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « قَدْ أَفْلَحَ مَنْ أَسْلَمَ، وَرُزِقَ كَفَافاً، وَقَنَّعَهُ اللّهُ بِمَا آتَاهُ » [رواه مسلم برقم 1054 ]

    ความว่า “ผู้ที่เข้ารับอิสลาม แล้วได้รับปัจจัยยังชีพที่พอเพียง และอัลลอฮฺทรงทำให้เขาพึงพอใจในสิ่งที่พระองค์ประทานให้ ย่อมได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1054)

    ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « لَيْسَ الْغِنَى عَنْ كَثْرَةِ الْعَرَضِ، إنَّمَا الْغِنَى غِنَى النَّفْسِ » [رواه البخاري برقم 6446 ومسلم برقم 1051 ]

    ความว่า “ความมั่งคั่งไม่ใช่ผู้ที่มีทรัพย์สินมากมาย แต่ความมั่งคั่งที่แท้จริง คือการที่หัวใจรู้สึกพอเพียงกับสิ่งที่มี” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 6446 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1051)

    คำอธิบายอายะฮฺที่เก้า

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ فَأَمَّا ٱلۡيَتِيمَ فَلَا تَقۡهَرۡ ٩

    ความว่า "ดังนั้นส่วนเด็กกำพร้าเจ้าอย่ากดขี่” (อัฎ-ฎุฮา: 9)

    คือเจ้าเคยเป็นเด็กกำพร้า และอัลลอฮฺก็ทรงให้ที่พักพิงแก่เจ้า ดังนั้นจงอย่ากดขี่เด็กกำพร้า คืออย่าทำให้เขารู้สึกต่ำต้อย ขับไล่เขา หรือดูหมิ่นดูแคลนเขา แต่จงทำดี และอ่อนโยนกับเขา

    คำอธิบายอายะฮฺที่สิบ

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَأَمَّا ٱلسَّآئِلَ فَلَا تَنۡهَرۡ ١٠

    ความว่า “และส่วนผู้เอ่ยขอนั้น เจ้าอย่าตวาดขับไล่” (อัฎ-ฎุฮา: 10)

    คือ เจ้าเคยเป็นผู้หลงทาง และอัลลอฮฺทรงนำทางให้แก่เจ้า ดังนั้นเจ้าจงอย่าขับไล่ผู้ที่มาขอความรู้ และขอคำแนะนำจากเจ้า

    คำอธิบายอายะฮฺที่สิบเอ็ด

    อัลลอฮฺตรัสว่า

    ﴿ وَأَمَّا بِنِعۡمَةِ رَبِّكَ فَحَدِّثۡ ١١

    ความว่า “และส่วนความโปรดปรานแห่งพระเจ้าของเจ้านั้น เจ้าจงแสดงออก” (อัฎ-ฎุฮา: 11)

    คือ เจ้าเคยเป็นผู้ยากไร้ขัดสน และอัลลอฮฺทรงทำให้เจ้าร่ำรวยขึ้น ดังนั้น เจ้าจงแสดงออกถึงความโปรดปรานที่อัลลอฮฺ มีต่อเจ้า

    ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « لاَ يَشْكُرُ اللَّهَ ، مَنْ لاَ يَشْكُرُ النَّاسَ » [رواه أبوداود في سننه برقم 4811 ]

    ความว่า "ผู้ที่ไม่ขอบคุณมนุษย์ ก็เท่ากับเป็นการไม่ขอบคุณอัลลอฮฺด้วย” (บันทึกโดยอบูดาวูด หมายเลขหะดีษ 4811 อัลบานีย์กล่าวในหนังสือเศาะฮีหฺสุนันอบูดาวุด เล่ม 3 หน้า 913 ว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้อง)

    ท่านญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

    « مَنْ أُبْلِيَ بَلاَءً فَذَكَرَهُ فَقَدْ شَكَرَهُ، وَإِنْ كَتَمَهُ فَقَدْ كَفَرَهُ » [رواه أبوداود في سننه برقم 4814 ]

    ความว่า “ผู้ใดได้รับสิ่งที่ดีงามแล้วเขารำลึกถึงอัลลอฮฺ ถือว่าเขาได้ขอบคุณพระองค์แล้ว แต่หากว่าเขาเงียบไว้ ก็เท่ากับว่าเขาได้ปกปิดความโปรดปรานนั้น (บันทึกโดยอบูดาวูด หมายเลขหะดีษ 4814 อัลบานีย์กล่าวในหนังสือเศาะฮีหฺสุนันอบูดาวุด เล่ม 3 หน้า 914 ว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้อง)

    والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد، وعلى آله وصحبه أجمعين.



    معلومات المادة باللغة العربية