×
جدبد!

تطبيق موسوعة بيان الإسلام

احصل عليه الآن!

الشباب في السيرة النبوية (تايلندي)

إعداد: ซุฟอัม อุษมาน

الوصف

الشباب في السيرة النبوية: نماذج من حياة مشرقة للشباب في عهد النبي صلى الله عليه وسلم الذين هم عمدة هذه الأمة الإسلامية، منهم: علي بن أبي طالب، الزبير بن العوام، أسماء بنت أبي بكر، عبدالله بن عمر، عبدالله بن عباس، سعد بن أبي الوقاص، النعمان بن بشير، معاذ بن عمرو، ومعوذ بن عفراء، رضي الله عنهم وأرضاهم.

تنزيل الكتاب

    เยาวชนหนุ่มสาว ในยุคสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    มุหัมมัด อาดิล ฟาริส

    แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : เว็บไซต์ www.islamselect.net

    2013 - 1434

    الشباب في السيرة النبوية

    « باللغة التايلاندية »

    محمد عادل فارس

    ترجمة: صافي عثمان

    المصدر: موقع المختار الإسلامي www.islamselect.net

    2013 - 1434

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เยาวชนหนุ่มสาว

    ในยุคสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

    เยาวชนคือเสาหลักแห่งความเจริญรุ่งเรือง เป็นกลุ่มคนที่ครอบครองคุณลักษณะแห่งความมุ่งมั่น กล้าหาญ ต่อสู้ และเสียสละ

    ในอดีต เยาวชนเคยเป็นคนรุ่นแรกๆ ที่แบกรับหน้าที่ในการดะอฺวะฮฺสู่อิสลามและปกป้องพิทักษ์สัจธรรม เพราะบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ส่วนใหญ่ที่ยอมรับศรัทธากับท่านล้วนแต่เป็นเยาวชนคนหนุ่มสาว ในขณะที่บรรดาผู้อาวุโสกุร็อยชฺกลับปฏิเสธท่าน!!

    ท่านอบู หัมซะฮฺ อัล-คอริญีย์ ได้กล่าวว่า “บรรดาเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ได้เป็นใครที่ไหนเลยนอกจากเยาวชนคนหนุ่มสาวมิใช่หรือ?"

    ในขณะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้นับจำนวนประเภทผู้ที่อัลลอฮฺจะทรงให้ร่มเงาของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ ซึ่งหนึ่งในจำนวนคนเหล่านั้นก็คือ “คนหนุ่มที่เติบโตขึ้นมาด้วยการเชื่อฟังอัลลอฮฺ"

    เมื่อเราอ่านชีวประวัติบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เราจะพบว่าพวกเขาส่วนใหญ่เป็นเยาวชนหนุ่มสาว สังเกตดูสิว่าท่านอบู บักรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ซึ่งเป็นเศาะหาบะฮฺอาวุโสนั้น ท่านรับอิสลามตอนอายุ 38 ปี เพราะฉะนั้นเศาะหาบะฮฺท่านอื่นๆ ที่เป็นผู้น้อยกว่าจะมีอายุเท่าใดกัน อาทิเช่น ท่านอะลีย์, สะอัด, อัซ-ซุเบรฺ, อบู ญุนดุล, อบู บะศีรฺ, อัล-หะสัน, อัล-หุเสน, อัสมาอ์ ... ฯลฯ

    เพียงพอแล้วที่ยืนยันในเรื่องนี้ ถ้าหากว่าเราได้อ่านหนังสือสีเราะฮฺของอิบนุ หิชาม ที่จะทำให้เราได้รู้ว่าบรรดาเยาวชนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญเพียงใดในการทำหน้าที่เผยแผ่สารอิสลามและต่อสู้เพื่อหนทางของอัลลอฮฺ

    ในหนังสือของท่านตอนหนึ่งมีว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อนุญาตให้คนหนุ่มสาวออกทำสงครามอุหุดจำนวนหนึ่ง คือ สะมุเราะฮฺ บิน ญุนดุบ และ รอฟิอฺ บิน เคาะดีจญ์ จากเผ่าหาริษะฮฺ ขณะที่ทั้งสองคนมีอายุเพียง 15 ปี ตอนแรกท่านไม่รับสองคนนี้ แต่มีคนกล่าวว่ากับท่านว่า รอฟิอฺนั้นแม่นธนู ท่านจึงอนุญาตให้ พอท่านรับรอฟิอฺก็มีคนบอกกับท่านว่า โอ้ท่านรอซูล แท้จริงสะมุเราะฮฺนั้นประลองต่อสู้ชนะรอฟิอฺ ท่านจึงรับเขาอีกคน ครั้งนั้นท่านนบีไม่ได้อนุญาตให้กับอุสามะฮฺ บิน ซัยดฺ, อับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ, ซัยดฺ บิน ษาบิต, อัล-บัรรออ์ บิน อาซิบ, อัมรฺ บิน หัซม์, อุสัยด์ บิน หุฎ็อยรฺ แต่ท่านอนุญาตให้เด็กๆ เหล่านี้ในสงครามค็อนดัก ซึ่งตอนนั้นพวกเขาเหล่านี้มีอายุได้แค่ 15 ปีเท่านั้น"

    มาลองศึกษาประวัติของบรรดาเศาะหาบะฮฺบางคนที่เป็นเยาวชนเหล่านี้กัน

    อะลีย์ บิน อบี ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ

    ท่านอะลีย์ เริ่มเข้ามาอยู่ในการดูแลของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่ออายุได้ 6 ขวบ ได้เรียนรู้มารยาทต่างๆ อันสูงส่งกับท่านนบี ในขณะที่วะห์ยูลงมาครั้งแรกท่านมีอายุได้ 10 ขวบ และเป็นคนแรกๆ ที่รับศรัทธา ในวัยเด็กท่านไม่เคยผ่านเรื่องเหลวไหลไร้สาระ นับประสาอะไรกับการเคารพรูปเจว็ด .. อัลลอฮฺได้ทรงเลือกให้ท่านได้ใกล้ชิดเป็นสหายของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บนหลักเอกภาพแห่งเตาฮีด ความบริสุทธิ์ และความสูงส่ง

    ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของอิสลาม ท่านอะลีย์ได้คอยเป็นเพื่อนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพื่อหลบไปยังซอกเขาต่างๆ ในมักกะฮฺเพื่อละหมาดร่วมกัน ให้ห่างจากสายตาของพวกกุร็อยชฺ

    ท่านจะรู้เรื่องราวอันเป็นรายละเอียดของชีวิตท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อย่างดี จึงรักและชื่นชมถูกใจท่านนบีมาก อัลลอฮฺทรงประทานให้ท่านมีหัวใจที่สะอาด ปัญญาที่กว้างขวาง ความจำที่ดีเยี่ยม และความฉลาดหลักแหลมที่เปี่ยมด้วยไหวพริบ

    ท่านเป็นคนที่คุ้นกับความสมถะและชีวิตเรียบง่าย แม้กระทั่งหลังจากที่ได้แต่งงานกับฟาฏิมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา แล้วก็ตาม นางเคยร้องเรียนถึงร่องรอยความเหนื่อยยากของการที่ต้องบดแป้งเอง และเมื่อมีข่าวว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้รับทาสมาคนหนึ่ง นางก็เลยไปขอทาสนั้นเพื่อให้มาเป็นคนรับใช้ แต่ท่านนบีก็กลับมาหาอะลีย์และฟาฏิมะฮฺพร้อมกับกล่าวกับทั้งสองว่า “จะให้ฉันบอกพวกเจ้าถึงสิ่งที่ดีกว่าเรื่องที่เจ้าสองคนขอจากฉันไหม ? เมื่อใดที่เจ้าสองคนจะเข้านอนให้กล่าวตักบีรฺ (อัลลอฮุอักบัรฺ) 34 ครั้ง กล่าวตัสบีหฺ(สุบหานัลลอฮฺ) 33 ครั้ง และกล่าวตะหฺมีด (อัลหัมดุลิลลาฮฺ) 33 ครั้ง" (บันทึกโดยอะห์มัด, อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

    ในสงครามค็อยบัรฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวประกาศว่า “ฉันจะมอบธงนี้ให้กับชายคนหนึ่งที่รักอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์" และท่านก็มอบธงนั้นให้กับท่านอะลีย์ และอัลลอฮฺก็ทรงทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการพิชิตค็อยบัรฺ (บันทึกโดย อะห์มัด, มุสลิม และอัต-ติรมิซีย์)

    ก่อนหน้านั้น ในเหตุการณ์ฮิจญ์เราะฮฺหรือการอพยพของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ผู้เสียสละที่ยอมนอนบนเตียงของท่านนบีแทนตัวท่านก็คืออะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 23 ปี ท่านยอมที่จะเสี่ยงตัวเองต่อการถูกฆ่าและความโกรธแค้นของพวกกุร็อยชฺ อัลลอฮฺจึงได้ทรงตอบแทนให้เกียรติท่านหลังจากนั้นโดยทรงให้ท่านได้คู่เคียงกับฟาฏิมะฮฺบนเตียงนอนด้วยการแต่งงานกับนาง

    ในสงครามบะดัรฺ ท่านเป็นหนึ่งในสามคนที่ออกมาประลองการต่อสู้กับพวกศัตรู ซึ่งตัวแทนของกองทัพมุสลิมนั้นประกอบด้วย อะลีย์, หัมซะฮฺ อาของท่านอะลีย์ และ อุบัยดะฮฺ บิน อัล-หาริษ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของท่านอะลีย์เอง และท่านอะลีย์ก็สามารถปลิดชีวิตคู่ต่อสู้ของท่านลงได้ นั่นคือ ชัยบะฮฺ บิน เราะบีอะฮฺ

    ในสงครามค็อนดัก ท่านได้ประลองกับอัมรฺ บิน วัดด์ อัล-อามิรีย์ ซึ่งเป็นทหารเอกร่างใหญ่ในกองทหารศัตรู และท่านก็ปลิดชีวิตเขาลงได้ อัมรฺผู้นี้เคยร่วมสงครามบัดรฺและเคยสาบานว่าจะไม่ทาน้ำมันที่เส้นผมตัวเอง(หมายถึงจะไม่ยอมใช้ชีวิตอย่างมีความสุขสำราญ)จนกว่าจะได้ฆ่ามุหัมมัด !!!

    ท่านอะลีย์ได้ร่วมเคียงบ่าเคียงไหลบรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้งสามท่าน คือ อบู บักรฺ, อุมัรฺ และอุษมาน ในยุคสมัยการปกครองของทั้งสาม ท่านเป็นทั้งที่ปรึกษา เสนาบดี และผู้ช่วยที่คอยสนับสนุนค้ำจุนงานของเคาะลีฟะฮฺ ท่านอุมัรฺ เคยกล่าวว่า “ถ้าไม่มีอะลีย์ อุมัรฺย่อมต้องล้มแน่แล้ว" !

    ท่านอะลีย์เป็นผู้ที่รู้กันว่ามีความฉลาดหลักแหลมอย่างพิเศษโดยเฉพาะในเรื่องการพิพากษา(เกาะฎออ์) ท่านเป็นคนที่วาทะฉะฉานหาคนเทียบยาก เป็นคนที่สามารถใช้สำนวนภาษาสูงส่ง ชำนาญในการปราศรัยที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวหาที่เปรียบไม่ได้ และยังมีความกล้าหาญชาญชัยจนเป็นที่ร่ำลือ

    ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้มอบหมายแต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้พิพากษาประจำเมืองเยเมน ท่านเป็นคนที่มีนิสัยสมถะ ใจบุญ เอื้ออารี และสำนึกในบุญคุณของพระองค์อัลลอฮฺ ท่านเสียชีวิตโดยถูกฆ่าด้วยน้ำมือฆาตกรที่ชื่อ อับดุรเราะห์มาน บิน มุลญัม ในเมืองกูฟะฮฺ

    อับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา

    ท่านเกิดก่อนเหตุการณ์ฮิจญ์เราะฮฺเป็นเวลา 10 ปี และได้อพยพไปยังมะดีนะฮฺพร้อมๆ กับอุมัรฺผู้เป็นบิดาของท่าน มีคุณลักษณะไม่ต่างจากบิดาคือ แข็งแรง ฉลาด มุ่งมั่นในการหาความรู้และปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

    อิบนุ อุมัรฺ พยายามที่จะเข้าร่วมรบในสงครามบะดัรฺ แต่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ไม่ได้อนุญาตเนื่องจากอายุยังน้อย เช่นเดียวกับในสงครามอุหุด แต่ท่านได้อนุญาตให้เข้าร่วมสงครามค็อนดัก และหลังจากนั้นมาอิบนุ อุมัรฺ ก็ไม่เคยพลาดสงครามอีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว ท่านได้ร่วมรบในสงคราม อัล-ยัรมูก, อัล-กอดิสียะฮฺ, ญะเลาลาอ์, สงครามเปอร์เซีย และการพิชิตอียิปต์

    ท่านเป็นผู้ท่องจำหะดีษจำนวนมากเป็นลำดับที่สองในจำนวนเศาะหาบะฮฺทั้งเจ็ดคนที่ท่องจำหะดีษมากที่สุด และยังเป็นคนเอื้ออารีใจถึงมือถึงอีกด้วย

    ในบั้นปลายชีวิตท่านได้เสียดวงตาไป และเสียชีวิตขณะมีอายุได้ 84 ปี

    อัซ-ซุเบรฺ บิน อัล-เอาวาม เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ

    ท่านรับอิสลามเมื่ออายุได้ 16 ปี เป็นหนึ่งในจำนวน หะวารีย์ คนสนิทผู้พิทักษ์ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเป็นลูกพี่น้องลูกน้องของท่านนบีเอง (เป็นลูกของเศาะฟียะฮฺ อาหญิงของท่านนบี) เป็นบุคคลแรกที่ชักดาบต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ เป็นนักรบที่กล้าหาญชาญชัย ไม่เคยพลาดการสงครามแม้แต่ครั้งเดียว ท่านจะตั้งชื่อลูกๆ ของตัวเองด้วยชื่อของบรรดาชะฮีดที่เสียชีวิตในสงคราม

    ตอนที่รับอิสลามท่านถูกทรมานจากอาของท่านเองเพื่อให้เลิกเป็นผู้ศรัทธา แต่ท่านก็อดทนและประกาศว่า “ฉันจะไม่กลับไปสู่กุฟรฺอีกเด็ดขาด" และท่านก็ได้ร่วมอพยพไปอบิสสิเนียด้วย

    บนหน้าอกของท่านเต็มไปด้วยรอยที่เหมือนดวงตา เป็นร่องรอยจากการถูกแทงด้วยดาบและดอกธนู

    ในสงครามบะดัรฺท่านได้ปลิดชีวิตอาของท่านเองที่เป็นศัตรูของอิสลาม นั่นคือ เนาฟัล บิน คุวัยลิด บิน อะสัด

    ในสงครามอุหุด และสงครามเผ่ากุร็อยเซาะฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวกับท่านว่า “ฉันขอไถ่เจ้าด้วยบิดามารดาของฉัน" !

    ในสงครามค็อนดัก ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ถามบรรดาเศาะหาบะฮฺว่า “ใครจะเป็นคนไปสืบข่าวของศัตรูมาให้ฉัน?" อัซ-ซุเบรฺได้รับปากอย่างทันทีทันใดและขี่ม้าไปลอบสืบข่าวมาให้ ท่านนบีได้ถามอย่างนี้ถึงสามครั้ง และทุกครั้งอัซ-ซุเบรฺก็เป็นผู้รับปากทำหน้าที่ดังกล่าว จนท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า “นบีทุกคนนั้นมีคนสนิทที่คอยพิทักษ์ปกป้องเขา และคนสนิทของฉันคืออัซ-ซุเบรฺ" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)

    ท่านเป็นคนกล้าหาญซึ่งหาคนเทียบได้ยาก ในการบุกปะทะเข้าไปท่ามกลางกองทหารศัตรู ในสงครามหุนัยนฺ, อัล-ยัรมูก และ อัล-ยะมามะฮฺ ท่านเป็นคนที่มีบทบาทใหญ่หลวงในการพิชิตป้อมปราการบาบิโลน และช่วยเหลืออัมรฺ บิน อัล-อาศ ในการพิชิตอียิปต์

    ท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน และบริจาคเพื่อการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺอย่างมากมาย

    ขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยในตัวท่านอัซ-ซุเบรฺด้วยเทอญ

    อัสมาอ์ บินตุ อบี บักรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา

    สตรีนักสู้ที่ได้รับการขนานนามว่า ซาตุนนิฏอก็อยนฺ เป็นบุตรีของเศาะหาบะฮฺ(อบู บักรฺ), หลานของเศาะหาบะฮฺ, ภรรยาของเศาะหาบะฮฺ(อัซ-ซุเบรฺ), แม่ของเศาะหาบะฮฺ(อับดุลลอฮฺ) และพี่สาวของเศาะหาบิยะฮฺ(อาอิชะฮฺ ภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยบรรดาท่านเหล่านี้ทุกคนด้วยเทอญ

    ท่านหญิงอัสมาอ์รับอิสลามตอนอายุได้ 14 ปี ซึ่งไม่มีใครรับอิสลามก่อนหน้าท่านนอกจากเศาะหาบะฮฺและเศาะหาบิยะฮฺแค่สิบหกคนเท่านั้น(หมายถึงว่าท่านหญิงอัสมาอ์เป็นคนลำดับที่สิบเจ็ด)

    ตอนที่แต่งงานกับอัซ-ซุเบรนั้น เขายังเป็นคนที่ยากจน อัสมาอ์จึงต้องคอยช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาภาระในครอบครัว จนกระทั่งอัลลอฮฺได้ประทานริสกีและความมั่งมีจนอัซ-ซุเบรฺกลายเป็นหนึ่งในจำนวนเศาะหาบะฮฺที่ร่ำรวยขึ้นมาหลังจากนั้น

    ขณะที่อพยพไปยังเมืองมะดีนะฮฺ อัสมาอ์กำลังตั้งครรภ์บุตรของนาง และเมื่อถึงกุบาอ์ก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายและตั้งชื่อว่าอับดุลลอฮฺ เด็กคนนี้จึงถือว่าเป็นทารกคนแรกของชาวมุฮาญิรีนในมะดีนะฮฺ และสิ่งแรกที่เข้าไปยังท้องของอับดุลลอฮฺก็คือน้ำลายของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพราะท่านได้ทำพิธีเปิดปากเขาและขอดุอาอ์ให้กับเขา

    อัสมาอ์เป็นคนใจบุญที่ร่ำลือและถูกกล่าวขานมาก นางไม่เคยเก็บอะไรไว้กับตัวจนถึงรุ่งเช้าเลย

    นางเป็นคนที่ฉลาดหลักแหลมและเสียสละ เมื่อครั้งที่อบูบักรฺ บิดาของนางอพยพไปพร้อมกับท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านเอาทรัพย์สินติดตัวไปหมด ซึ่งมีจำนวนถึงหกพันดิรฮัม และไม่ได้เหลืออะไรไว้ให้กับครอบครัวเลย เมื่ออบู กุหาฟะฮฺ พ่อของอบูบักรฺซึ่งเป็นปู่ของนางทราบข่าวดังกล่าว (ซึ่งตอนนั้นอบู กุหาฟะฮฺยังไม่ได้รับอิสลาม) ก็ได้มายังบ้านของอบูบักรฺและกล่าวว่า “ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ แท้จริงฉันคิดว่าพ่อของพวกเจ้าได้ทำร้ายพวกเจ้าด้วยสมบัติของเขา หลังจากที่เคยทำให้พวกเจ้าเจ็บปวดด้วยตัวของเขามาแล้ว" อัสมาอ์จึงกล่าวตอบไปว่า “ไม่เลย โอ้ปู่ของข้า แท้จริงท่านพ่อได้เหลือสมบัติไว้กับพวกเราด้วย" จากนั้นนางก็เอาเม็ดกรวดมาใส่ตรงช่องผนังที่เคยใช้เก็บสมบัติแล้วหาผ้ามาปิดไว้ เสร็จแล้วก็ดึงมือปู่ของนางซึ่งเป็นคนตาบอดมาให้ลองจับคลำดูแล้วถามว่า “ดูสิ ท่านพ่อเหลือสมบัติให้เราไว้มากแค่ไหน?"

    เรื่องอันเป็นที่เล่าขานของนางก็คือ การที่นางแบกถุงสัมภาระอาหารให้กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ขณะที่ท่านอยู่บนเส้นทางแห่งการฮิจญ์เราะฮฺ ตอนที่นางจะผูกถุงสัมภาระและหาเชือกที่เหมาะสมไม่เจอ จึงได้ฉีกผ้าคาดเอวของนางเป็นสองส่วน อันหนึ่งใช้ผูกย่ามอีกอันใช้ผูกภาชนะใส่น้ำ นางจึงได้ชื่อเป็นที่กล่าวขานว่า ผู้หญิงที่มีผ้าคาดเอวสองอัน (ซาตุน นิฏอก็อยนฺ) และท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้ขอดุอาอ์ให้อัลลอฮฺตอบแทนนางด้วยผ้าคาดเอวสองชิ้นในสวรรค์

    อีกเรื่องอันเป็นที่กล่าวขานก็คือ การที่นางปลุกใจอับดุลลอฮฺลูกชายของนางให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอัล-หัจญ์ญาจญ์ โดยได้พูดกับลูกของนางว่า “แพะที่ตายไปแล้ว แม้จะถูกแล่หนังก็จะไม่รู้สึกอะไรอีก" เป็นคำตอบของนางเมื่อลูกชายบอกว่า “ฉันกลัวว่าพวกเขาจะแล่เนื้อฉัน" จากนั้นนางก็ขอดุอาอ์ให้ลูกชายว่า “โอ้อัลลอฮฺ ขอทรงเมตตาต่อการที่เขายืนละหมาดอย่างยาวนาน และเสียงร่ำไห้อันหนักหนาของเขาในช่วงดึกสงัดตอนที่ผู้คนต่างหลับใหลกัน โอ้อัลลอฮฺขอทรงเมตตาความหิวและความกระหายของเขา ตอนที่เขาถือศีลอด โอ้อัลลอฮฺขอทรงเมตตาต่อการทำดีของเขาต่อบิดามารดาทั้งสอง"

    อับดุลลอฮฺถูกฆ่าในวันที่เข้าไปร่ำลามารดาเสร็จ แล้วอัล-หัจญ์ญาจญ์ก็นำเอาศพของเขาไปแขวนกางเขน พอผ่านไปสามวัน อัสมาอ์ได้เดินผ่านร่างศพลูกชายที่ถูกกางเขน และนางกล่าวว่า “ยังไม่ถึงเวลาที่นักรบขี่ม้าคนนี้จะลงมาเดินเท้าอีกหรือ?" อัล-หัจญ์ญาจญ์จึงสั่งคนให้นำศพไปฝัง

    อัสมาอ์เสียชีวิตเมื่ออายุครบ 100 ปี โดยที่ฟันหรือกรามของนางไม่ได้หักเลยแม้เพียงซี่เดียว และสติของนางก็ยังปกติสมบูรณ์ไม่เคยเลอะเลือนเลยแม้จะอายุมากถึงร้อยปีก็ตาม

    สะอัด บิน อบี วักกอศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ

    ท่านเป็นหนึ่งในจำนวนคนที่รับอิสลามในช่วงต้นๆ และเป็นหนึ่งในสิบคนที่ได้รับการแจ้งข่าวดีว่าเป็นชาวสวรรค์ เป็นวีรบุรุษแห่งสงครามอัล-กอดิสียะฮฺ และเป็นผู้พิชิตเมืองอัล-มะดาอิน เมืองหลวงของเปอร์เซียขณะนั้น

    ท่านรับอิสลามขณะอายุ 17 ปี ไม่เคยหันเหไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องไร้สาระที่เด็กหนุ่มในวัยเดียวกันชื่นชอบ แต่ท่านจะชอบเหลาธนูและฝึกฝนการยิงธนู

    ตอนที่รับอิสลาม ท่านได้รับบททดสอบที่หนักหน่วง ท่านเล่าให้ฟังด้วยตัวเองว่า “ฉันเป็นคนที่คอยดูแลแม่อย่างดีมาก เมื่อฉันรับอิสลามแม่ได้พูดกับฉันว่า 'โอ้ สะอัด ศาสนาอะไรกันที่เจ้าอุตริขึ้นมา? เจ้าต้องละทิ้งศาสนาของเจ้า ไม่เช่นนั้นฉันจะไม่กินไม่ดื่มอะไรเลย จนฉันตายไป แล้วคนก็จะได้โจษขานกันว่าสะอัดได้ฆ่าแม่ของตัวเอง' รุ่งเช้าแม่ก็ทำตามที่พูดและมีสภาพอ่อนแรงเพราะหิว ฉันจึงพูดกับนางว่า 'โอ้แม่เอ๋ย ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ แม่เองก็รู้ไม่ใช่หรือว่า ถ้าแม่มีถึงร้อยชีวิต และแม่ก็ตายแล้วฟื้นครั้งแล้วครั้งเล่าจนครบร้อยครั้ง ฉันก็จะไม่ละทิ้งศาสนานี้ เพราะฉะนั้น ถ้าแม่อยากกินก็จงกินเสียหรือถ้าไม่อยากกินก็ตามใจเถิด' เมื่อฟังเช่นนั้นแล้ว นางก็กลับมากินอาหารอีกครั้ง" (บันทึกโดย อะห์มัด, มุสลิม และ อัต-ติรมิซีย์)

    สะอัด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เสียสละทั้งชีวิต เวลา และสมบัติ เพื่อการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ

    ท่านเป็นคนแรกที่ยิงธนูเพื่อสงครามในอิสลาม เป็นผู้ที่ได้รับการตอบรับดุอาอ์จากอัลลอฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ขอดุอาอ์ให้กับท่านว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ขอทรงตอบรับแก่สะอัดเมื่อเขาขอดุอาอ์ต่อพระองค์" (บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ และ อัล-หากิม โดยกล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ท่านอัซ-ซะฮะบีย์ ก็เห็นด้วย)

    มีรายงานว่า มีชายคนหนึ่งสาบานและกล่าวหาเท็จต่อท่านในสมัยการปกครองของอุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ซึ่งตอนนั้นสะอัดได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองกูฟะฮฺ สะอัดจึงได้ขอดุอาอ์ว่า “โอ้ อัลลอฮฺ หากชายคนนี้พูดโกหก ขอพระองค์ทำให้เขามีอายุยาว ให้เขายากจนอย่างยาวนาน และให้เขาต้องพบกับการทดสอบที่เป็นฟิตนะฮฺ" เมื่อเวลาผ่านไปชายคนนั้นจึงพูดกับตัวเองว่า “คนเฒ่าที่ถูกทดสอบ โดนดุอาอ์ของสะอัด" ซึ่งบั้นปลายชีวิต ชายเฒ่าคนนั้นมีอายุมากถึงขนาดคิ้วตกมาปกปิดดวงตาทั้งสอง และคอยเดินไปตามถนนเพื่อหาเรื่องเกี้ยวผู้หญิงไปวันๆ (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)

    สะอัดได้ร่วมรบในสงครามทั้งหมดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และได้แสดงฝีมืออย่างเยี่ยมยอด

    ในสงครามบะดัรฺ ท่านคอยยิงธนูอยู่ต่อหน้าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อวางธนูในคันก็กล่าวขอดุอาอ์ว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ขอทรงเขย่าให้เท้าของพวกเขาหวั่นไหว ให้หัวใจของพวกเขาหวาดกลัว ขอทรงจัดการพวกเขา ขอทรงจัดการพวกเขา" ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็จะกล่าวรับว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ขอทรงตอบรับดุอาอ์ของสะอัดด้วย"

    ในสงครามอุหุด ท่านเป็นคนหนึ่งที่ปักหลักมั่นคงพร้อมๆ กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านนบีจะเป็นคนคอยยื่นลูกธนูให้และกล่าวกับสะอัดว่า “จงยิงธนูไป ขอไถ่เจ้ากับบิดามารดาของข้า" จนกระทั่งถึงขนาดว่าบางครั้งท่านนบีก็ยื่นลูกธนูที่ปราศจากหัวธนูให้ และกล่าวกับท่านว่า “จงยิงธนูกับสิ่งนี้ไป" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

    ในทุกสงครามสะอัดจะเป็นอย่างนั้น ทั้งในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือสมัยท่านอบู บักรฺ และ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา แต่ว่าสงครามอันยิ่งใหญ่ที่ทุกครั้งเมื่อพูดถึงมันก็จะต้องนึกถึงสะอัดก็คือสงครามอัล-กอดิสียะฮฺ ที่ท่านได้นำทัพไปต่อสู้พวกเปอร์เซีย์ ท่านลงมือจัดทัพ โดยทุกๆ สิบคนจะให้มีผู้เชี่ยวชาญหนึ่งคน ให้คนที่เป็นรุ่นอาวุโสเป็นผู้ถือธงรบ แต่งตั้งผู้รับผิดชอบด้านการชี้ขาดและแบ่งทรัพย์เชลย ผู้รับผิดชอบในการให้โอวาทตักเตือน ให้มีล่ามแปลที่ชำนาญภาษาเปอร์เซีย มีเสมียนจดบันทึก มีสายลับ มีกลุ่มที่คอยลาดตระเวนโจมตี และนักทูตที่คอยเจรจา

    สงครามอัล-กอดิสียะฮฺใช้เวลานานถึงสามวัน กองทัพมุสลิมต้องประสบกับการจู่โจมอย่างหนักจากพวกเปอร์เซีย จนเสียชีวิตในสมรภูมิมากถึงหนึ่งในสี่ของจำนวนทหาร แต่สุดท้ายก็ได้รับชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งจำนวนทหารมุสลิมมีทั้งหมดสามหมื่นห้าพันคน ในขณะที่กองกำลังของเปอร์เซียมีมากถึงหนึ่งแสนสองหมื่นคนทีเดียว หลังจากนั้นสะอัดก็ได้พิชิตเมืองมะดาอินในสงครามอีกสมรภูมิหนึ่ง

    เมื่อท่านจะเสียชีวิต ขณะนั้นท่านกลับมาอยู่ที่เขตอัล-อะกีกไม่ไกลจากตัวเมืองมะดีนะฮฺ ท่านบอกให้นำเอาเสื้อขนสัตว์เก่าๆ ตัวหนึ่งออกมา และกล่าวว่า “จงห่อศพฉันด้วยเสื้อนี้ เพราะมันเป็นเสื้อที่ฉันใช้รบกับพวกมุชริกีนในสงครามบะดัรฺ แท้จริง ที่ฉันเก็บซ่อนมันไว้ก็เพราะว่าจะได้ใช้มันในวันนี้.." ศพของท่านถูกฝังที่สุสานบะกีอฺ ขออัลลอฮฺทรงโปรดปรานท่านด้วยเทอญ

    อับดุลลอฮฺ บิน อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา

    ท่านถือกำเนิดก่อนการฮิจญ์เราะฮฺเป็นเวลา 3 ปี ขณะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เสียชีวิตนั้น อิบนุ อับบาสมีอายุไม่เกิน 13 ปีบริบูรณ์ แต่ทว่าท่านกลับเป็นผู้ที่ได้ท่องจำหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จำนวนถึง 1660 หะดีษด้วยกัน และอยู่ในลำดับที่ห้าจากเศาะหาบะฮฺเจ็ดคนที่ท่องจำหะดีษมากที่สุด

    ตอนคลอดใหม่ๆ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือผู้ที่ทำพิธีเปิดปากอิบนุ อับบาส ดังนั้น สิ่งแรกที่ตกลงท้องของเด็กผู้นี้ก็คือน้ำลายอันบริสุทธิ์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ อิบนุ อับบาส ได้ทำหน้าที่รับใช้อยู่กับท่านนบี คอยเตรียมน้ำละหมาดให้กับท่าน ละหมาดข้างๆ ท่าน และขี่พาหนะข้างหลังท่านเวลาเดินทาง

    อิบนุ อับบาสถือว่าเป็นเด็กอัจฉริยะ ด้วยหัวใจที่เข้าใจอะไรง่าย และความคิดที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นคนที่พูดมีเหตุผลหนักแน่น ไหวพริบปฏิภาณฉับไว ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ขอดุอาอ์ให้กับท่านว่า “โอ้ อัลลอฮฺขอทรงทำให้เขาเข้าใจในศาสนา และทรงสอนให้เขารู้การอรรถาธิบาย"

    หลังจากที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เสียชีวิต อิบนุ อับบาส ก็มุ่งมั่นหาความรู้กับบรรดาเศาะหาบะฮฺต่อไป ท่านเคยเล่าว่า “เมื่อฉันได้ยินว่ามีหะดีษกับเศาะหาบะฮฺคนใดคนหนึ่ง ฉันก็จะไปหาเขาและหยุดอยู่ที่ประตูบ้านเขาช่วงที่เขานอนพักกลางวัน ฉันจะปูผ้าของฉันและนอนอยู่หน้าบ้านนั้น ลมก็จะพัดเอาฝุ่นมากลบฉัน ถ้าหากฉันจะขออนุญาตเขาเข้าไปในบ้าน แน่นอนว่าเขาก็ต้องอนุญาตให้กับฉัน เมื่อเขาออกมาเห็นฉันในสภาพนั้น เขาก็พูดกับฉันว่า 'โอ้ ญาติของท่านรอซูลุลลอฮฺ อะไรคือสาเหตุที่พาท่านมาหาฉันเล่า? ท่านน่าจะใช้ให้ใครมาบอกฉัน แล้วฉันจะได้ไปหาท่านเอง!' ฉันก็จะตอบเขาว่า 'ฉันต่างหากที่สมควรต้องมาหาท่าน เพราะความรู้นั้นเราต้องไปหามัน ไม่ใช่รอให้มันมาหาเรา!'“

    อิบนุ อับบาสเคยจับที่เชือกจูงสัตว์พาหนะของซัยดฺ บิน ษาบิต เศาะหาบะฮฺผู้ซึ่งเป็นฟะกีฮฺนักปราชญ์เรื่องฟิกฮฺ และช่วยท่านจูงมัน ซัยดฺจึงได้กล่าวว่า “จงปล่อยมันเสียเถิด โอ้ ญาติของท่านรอซูลุลลอฮฺ" ท่านก็ตอบไปว่า “นี่แหละคือสิ่งที่เราถูกสั่งให้ปฏิบัติกับบรรดาผู้รู้ของเรา" ได้ยินดังนั้นซัยดฺก็จับมือของอิบนุ อับบาสและเอามาจูบ พร้อมกับกล่าวว่า “และนี่คือสิ่งที่เราถูกสั่งให้ปฏิบัติกับบรรดาญาติของท่านนบีของเรา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม"

    มัสรูก บิน อัล-อัจญ์ดะอฺ ตาบิอีนอาวุโสท่านหนึ่งได้เคยกล่าวว่า “ถ้าท่านได้เห็นอิบนุ อับบาสท่านก็จะพูดว่าเขาเป็นคนที่สง่างามที่สุด ถ้าท่านได้ยินเขาเอื้อนเอ่ยท่านก็จะพูดว่า นี่คือคนที่พูดเพราะฉะฉานที่สุด และถ้าท่านได้ฟังเขาปราศรัยท่านก็ย่อมจะกล่าวว่า เขานี่แหละคือผู้ที่มีความรู้มากที่สุด"

    อิบนุ อับบาส จะมีสถานที่ชุมนุมที่ใช้ในการตอบปัญหาต่างๆ เวลาที่มีคนมาถามเรื่องเกี่ยวกับอัลกุรอาน แนวกิรออาตการอ่านอัลกุรอานแบบต่างๆ การตัฟสีรฺและอรรถาธิบาย เรื่องฟิกฮฺและการแบ่งมรดก เรื่องที่เกี่ยวกับภาษาอาหรับและบทกวี บางทีอาจจะมีการจัดสอนเฉพาะในเรื่องตัฟสีรฺ หรือไม่ก็ในเรื่องฟิกฮฺ ไม่ก็ในเรื่องสงครามต่างๆ ไม่ก็ในเรื่องบทกวี ไม่ก็ในเรื่องประวัติของชาวอาหรับ และวงศึกษาเฉพาะในเรื่องการให้โอวาทตักเตือน

    ท่านอุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จะให้อิบนุ อับบาส เข้ามาอยู่ใกล้ๆ ท่านเวลาที่ท่านจะแก้ปัญหาเรื่องยากๆ คอยขอคำปรึกษาในเรื่องที่ใหญ่หลวง ท่านจะพูดถึงอิบนุ อับบาสว่า “คนหนุ่มที่เทียบเท่าคนอาวุโส มีลิ้นที่ชอบถาม และหัวใจที่เปี่ยมด้วยปัญญา"

    ในจำนวนคำคมของอิบนุ อับบาส ก็คือ “แท้จริง การที่ท่านยินดีกับบาปเมื่อท่านได้ทำมันนั้น ใหญ่หลวงหนักหนากว่าตัวบาปนั่นเสียเอง และแท้จริง การที่ท่านเสียดายเพราะพลาดไม่ได้ทำบาปใดๆ นั้น มันใหญ่หลวงและหนักหนากว่าตัวบาปนั่นเสียเองเช่นเดียวกัน"

    ท่านเป็นผู้ที่ชื่นชอบการทำอิบาดะฮฺอย่างมาก โดยเฉพาะการถือศีลอดและการละหมาดกลางคืน

    ท่านมักจะเข้าร่วมในวงสนทนาของท่านอบู บักรฺ และอุมัรฺ อยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นวงชุมนุมที่มีแต่เศาะหาบะฮฺอาวุโส และเมื่อบรรดาเศาะหาบะฮฺเหล่านั้นรู้สึกไม่ค่อยดีเพราะมีผู้เยาว์อย่างอิบนุ อับบาสอยู่ด้วย ในขณะที่ลูกๆ ของพวกเขาเองไม่เคยได้มีโอกาสเช่นเขา ท่านอุมัรฺก็เลยคิดที่จะแสดงให้พวกเขาเห็นถึงวุฒิภาวะและสถานะของอิบนุ อับบาส ท่านจึงถามทุกคนที่อยู่ในนั้นว่า อะไรคือความหมายของสูเราะฮฺ อัน-นัศรฺ ซึ่งคำตอบของอิบนุ อับบาส ก็คือ สูเราะฮฺนี้เป็นการบอกถึงการสิ้นอายุขัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

    อิบนุ อับบาส เสียดวงตาของท่านในบั้นปลายชีวิต และสิ้นลมหายใจเมื่ออายุได้ 71 ปี

    อัน-นุอฺมาน บิน บะชีรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ

    เป็นทารกคนแรกของชาวอันศอรฺหลังเหตุการณ์การฮิจญ์เราะฮฺ เกิดเมื่อเดือนญุมาดัลอูลาปีที่สองฮิจญ์เราะฮฺศักราช เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เสียชีวิต นุอฺมานมีอายุได้เก้าปีเท่านั้น

    ในจำนวนหะดีษที่ท่านได้รายงานก็คือ “แท้จริง สิ่งหะลาลนั้นชัดเจน สิ่งหะรอมก็ชัดเจน และระหว่างทั้งสองนั้นมีสิ่งที่คลุมเครือ"

    ท่านเป็นคนที่มุ่งมั่นหาความรู้ และเป็นที่ร่ำลือในความสามารถด้านการวินิจฉัยข้อตัดสินชี้ขาดและการพิพากษา

    มุอาวิยะฮฺได้แต่งตั้งให้ท่านดูแลเมืองกูฟะฮฺเป็นเวลาเก้าเดือน จากนั้นก็ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาที่เมืองชาม

    ท่านเป็นคนที่เอื้ออารีและใจกว้างต่อคนยากไร้และขัดสน

    ท่านเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 65 ปี ด้วยสภาพที่ตายชะฮีดในสงคราม

    มุอาซ บิน อัมรฺ และ มุเอาวิซ บิน อัฟรออ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา

    ทั้งสองคนเป็นลูกของเศาะหาบะฮฺ เมื่อได้ยินข่าวว่าอบู ญะฮัลได้ด่าทอท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งสองคนเลยตั้งใจแน่วแน่ว่าจะปลิดชีวิตของเขาให้ได้เพื่อปกป้องท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

    อับดุรเราะห์มาน บิน เอาฟฺ เล่าว่า “แท้จริง ฉันอยู่ในแถวของกองทหารมุสลิมในสงครามบะดัรฺ จู่ๆ ฉันก็หันไปเห็นเด็กสองคนทางขวาและซ้ายมือของฉัน และเหมือนว่าฉันไม่ค่อยจะเชื่อสายตาตัวเองที่เห็นเด็กสองคนในที่แบบนี้ คนหนึ่งได้มาเข้าถามฉันอย่างลับๆ ไม่ให้สหายของตัวเองรู้ว่า 'โอ้ ท่านอา คนไหนกันที่ชื่ออบู ญะฮัล?' ฉันก็ถามเขาว่า 'ถ้าเจ้ารู้แล้ว เจ้าจะทำอะไร?' เขาตอบว่า 'ฉันได้ยินว่าเขาด่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ถ้าฉันเห็นเขา ฉันจะไม่ปล่อยให้ตัวเขาหลุดรอดไปจากสายตาฉันได้ จนกว่าคนที่เร็วกว่าจะฆ่าอีกคนหนึ่งให้ตายเสีย' ฉันแปลกใจมากที่ได้ยินเช่นนั้น และแล้วเด็กหนุ่มอีกคนหนึ่งก็มาถามฉันเหมือนที่สหายของเขาได้ถามมาก่อนหน้า สักพักเมื่อฉันเห็นอบู ญะฮัล ฉันก็บอกกับพวกเขาว่า 'นี่อย่างไรล่ะอบู ญะฮัลที่พวกเจ้าถามหา' ทั้งสองคนจึงรีบรุดและชักดาบฟันเขาป็นแผลฉกรรจ์อย่างหนักทีเดียวจนเกือบเสียชีวิต จากนั้นอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด ก็เข้ามารับช่วงจัดการปลิดชีวิตเขาต่อจนเสร็จ"

    อิบนุ มัสอูดเองก็รับอิสลามตอนอายุไม่ถึงยี่สิบปี เป็นคนร่างผอมเล็ก แต่ฉลาดหลักแหลม หัวใจสะอาดบริสุทธิ์ ชอบและหลงใหลความรู้ ท่านจะเกาะติดท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และปฏิบัติตามสุนนะฮฺของท่านอย่างเคร่งครัด และเป็นหนึ่งในจำนวนเศาะหาบะฮฺที่เชี่ยวชาญในเรื่องฟิกฮฺ

    ที่มา http://www.islamselect.net/mat/91982

    معلومات المادة باللغة الأصلية